ถ้าพูดถึงการแต่งงาน นอกจากจะต้องวางแผนสร้างครอบครัว และจัดงานแต่งแล้ว อุปสรรคด่านแรกเลยที่ฝ่ายชายจะต้องผ่านไปให้ได้ก็คือ ค่าสินสอด !
การเรียก ค่าสินสอด มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วครับ กุศโลบายของคนสมัยนั้นก็คือ เพื่อเป็นหลักประกันว่า เจ้าบ่าวจะไม่หนีการแต่งงาน อีกทั้งยังเป็นการทดสอบว่า ฝ่ายชายมีความมั่นคง และจะสามารถดูแลฝ่ายหญิงได้หรือเปล่า
ถึงแม้ปัจจุบันแนวคิดผู้หญิงกับผู้ชายเท่าเทียมกันจะเป็นเรื่องสากลแล้ว แต่ประเพณีนี้ก็ยังคงฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย และเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทำให้เรื่องค่าสินสอดกลายเป็นเรื่อง “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” อยู่เสมอ…
บ่อยครั้งที่เมื่อมีการตกลงกันเรื่องค่าสินสอด เรามักจะได้รับคำตอบจากอีกฝ่ายประมาณว่า “ตามเหมาะสม” หรือ “แล้วแต่จะให้”
อ้าว..แล้วที่ว่าเหมาะสมมันเท่าไหร่กันเนี่ย !?
วันนี้พี่โอกาสจะพามาลองคำนวณให้ดูว่า ค่าสินสอดมีปัจจัยอะไรในการคิดบ้าง และค่าสินสอดที่เหมาะสมกับคุณ หรือเจ้าสาวของคุณควรจะเป็นเท่าไหร่ดี
คิดค่าสินสอดจากอะไรบ้าง ?
จากงานวิจัยวิทยานิพนธ์ ในหัวข้อ “ถ้าฉันจะแต่งงาน ควรจะได้รับ/จ่ายสินสอดเท่าไร” ได้พบว่าปัจจัยมีผลต่อการตกลงค่าสินสอดของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ :
อายุ, รายได้, ภูมิลำเนา, ระดับการศึกษา, แต่งงานเป็นคนแรกของครอบครัว, ภาระรับผิดชอบต่อครอบครัวของฝ่ายหญิง และระดับหน้าที่การงาน
วิธีคำนวณค่าสินสอดที่เหมาะสม
ค่าสินสอดเป็นมูลค่าที่เป็นจุดดุลยภาพในการตกลงของทั้งสองฝ่าย เป็นมูลค่าที่ฝ่ายชายเต็มใจจ่าย และฝ่ายหญิงเต็มใจที่จะรับ
จากตัวแปรในโพสต์ที่แล้ว สามารถนำข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างมาสร้างเป็นแบบจำลองราคาที่สามารถคำนวณได้ตามสูตรนี้เลยครับ
( 3.26 x รายได้ต่อเดือน ) + ( 13,200 x อายุ ) + ปัจจัยอื่นๆ
ปัจจัยอื่นๆ
- หากเจ้าสาวเป็นคน กทม.ให้ + 257,000
- หากเจ้าสาวแต่งงานคนแรกของครอบครัวให้ + 333,000
- หากเจ้าสาวมีตำแหน่งเป็นผู้บริหาร + 2,776,000
- หากเจ้าสาวมีการศึกษาต่ำกว่ามัธยมให้ – 667,000
- หากเจ้าสาวมีภาระครอบครัว – 197,000
เช่น นางสาววินนี่มีอายุ 28 ปี เป็นคนกรุงเทพ จบการศึกษาปริญญาตรี ทำงานบัญชี ได้เงินเดือน 20,000 บาท พี่สาวแต่งงานแล้ว ไม่มีภาระครอบครัว จะสามารถคำนวณค่าสินสอดได้ประมาณ 460,500
โอ้โห..กว่าจะแต่งกันได้ ต้องเตรียมไม่ใช่น้อยๆเลย
และสุดท้ายนี้พี่โอกาสอยากจะฝากเอาไว้ว่า ความรักของคน จริงๆนั้นไม่สามารถวัดเป็นตัวเลขได้หรอกครับ ค่าของคนคนนึงก็ไม่สามารถวัดได้เช่นกัน
การคำนวณนี้เป็นเพียงการประมาณ จุดเหมาะสมที่พอใจทั้งสองฝ่าย ของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้วิจัยเท่านั้น ชีวิตจริงยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องผ่านไปด้วยกัน พี่โอกาสเอาใจช่วยนะครับ
ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก : วิทยานิพนธ์ ในหัวข้อ “ถ้าฉันจะแต่งงาน ควรจะได้รับ/จ่ายสินสอดเท่าไร” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์