ข่าวดีเลยครับ สำหรับใครที่มี ภาระหนี้ อยู่ในช่วงนี้ เพราะเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทางแบงก์ชาติได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 2 ออกมาถึง 4 มาตรการ ทั้งจ่ายขั้นต่ำ เพิ่มวงเงิน ลดดอกเบี้ย ปรับปรุงโครงสร้างหนี้
วันนี้พี่โอกาสจะมาสรุป มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากไวรัสโควิด19 รอบ 2 แต่ละตัวให้ฟังกันครับ !
1. ปรับเพดานลดดอกเบี้ย
ปรับลดเพดานดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป ร้อยละ 2 – 4 ต่อปี สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค. 63) โดยจะลดดังนี้
1.1 บัตรเครดิต ลดลงจากดอกเบี้ยเดิม 18% ต่อปี เหลือ 16% ต่อปี
1.2 สินเชื่อส่วนบุคคล (ภายใต้การกำกับ ธปท.)
- แบบวงเงินหมุนเวียน เช่น บัตรกดเงินสด ลดลงจากดอกเบี้ยเดิม 28% ต่อปี เหลือ 25% ต่อปี
- แบบผ่อนชำระเป็นงวด ลดลงจากดอกเบี้ยเดิม 28% ต่อปี เหลือ 25% ต่อปี
1.3 สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ลดลงจากดอกเบี้ยเดิม 28% ต่อปี เหลือ 24% ต่อปี
2. เพิ่มวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
ให้ผู้บริการพิจารณาขยายวงเงิน สำหรับลูกหนี้ที่ชำระหนี้ดีต่อเนื่องและมีความจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มเติมเป็น 2 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน (จากเดิม 1.5 เท่า) สำหรับลูกหนี้ที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 30,000 บาท/เดือน เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ 1 ส.ค. 63 ถึง 31 ธ.ค. 64
3. ช่วยเหลือลูกหนี้ขั้นต่ำ
ขยายขอบเขตระยะเวลาช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 และไม่เป็นหนี้เสีย (NPLs) ณ วันที่ 1 มี.ค. 63 โดยมีรายละเอียดดังนี้
- บัตรเครดิต เปลี่ยนเป็นสินเชื่อระยะยาว 48 งวด หรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ ดอกเบี้ยไม่เกิน 12% ต่อปี โดยจะพิจารณาตามความสามารถชำระหนี้
- สินเชื่อบัตรกดเงินสด เปลี่ยนเป็นสินเชื่อระยะยาว 48 งวด หรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ ดอกเบี้ยไม่เกิน 12% ต่อปี โดยจะพิจารณาตามความสามารถชำระหนี้
- สินเชื่อส่วนบุคคล (ผ่อนชำระเป็นงวด) และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ลดค่างวดอย่างน้อย 30%โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22%
- สินเชื่อเช่าซื้อ (ไม่จำกัดวงเงิน) พักการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน หรือลดค่างวดโดยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้
- สินเชื่อบ้าน พักการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน, พักชำระเงินต้น 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยตามความเหมาะสม หรือลดค่างวดโดยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้
ลูกหนี้สามารถลงทะเบียนได้ในวันที่ 1 ก.ค. – 31 ธ.ค. 63 ขอความช่วยเหลือ และแจ้งความประสงค์ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของผู้ให้บริการทางการเงิน เช่น แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ Call Center หรือส่งข้อความ SMS
4. ปรับโครงสร้างหนี้
ผู้ให้บริการทางการเงินต้องเร่ง ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้แก่ลูกหนี้ โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระให้ลูกหนี้
เช่น โดยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เปลี่ยนสินเชื่อจากระยะสั้นเป็นระยะยาว เลื่อนการชำระค่างวด ลดดอกเบี้ย และกรณีลูกหนี้ได้รับผลกระทบจนเป็น NPLs ขอให้พิจารณาชะลอการยึดทรัพย์
ข้อมูลจาก : ธนาคารแห่งประเทศไทย