ชีวิตและการเงิน ไม่ใช่การแข่งวิ่งระยะสั้นครับแต่มันคือ “การวิ่งมาราธอน” และการวางแผนเกษียณก็เช่นกัน เพราะการเตรียมตัวเก็บเงินเพื่อเกษียณนั้นเป็นเป้าหมายระยะยาว ที่ต้องใช้เงินเยอะมาก
เราจึงจำเป็นต้องวางแผนให้รอบคอบและต้องรู้ว่า เวลาไหนควรช้า เวลาไหนควรเร่ง วันนี้พี่โอกาสจะมาแนะนำการ วางแผนเกษียณ โดยเอาเทคนิควิ่งมาราธอนมาปรับใช้กันครับ
8 กิโลเมตรแรก ( เริ่มทำงาน – 30 ปี )
เมื่อเริ่มต้นเข้าสู่วัยทำงาน การควบคุมรายจ่ายของตัวเองเป็นสิ่งจำเป็นมาก เงินเข้าเร็ว แต่ก็ออกเร็วเช่นกัน ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือ บันทึกรายรับรายจ่าย ให้เป็นนิสัย จะได้รู้ว่าตัวเองจ่ายอะไรไปบ้าง
เหมือนกับนักวิ่งที่ควบคุมความเร็วในการวิ่งได้ และรู้ว่าตัวเองวิ่งด้วยความเร็ว pace เท่าไหร่ และอีกอย่างที่สำคัญในช่วงนี้คือ ควรเริ่มเก็บเงินให้มี เงินเก็บฉุกเฉิน ประมาณ 3-6 เดือน
รวมถึงควรเก็บเงินไว้ในแหล่งที่มี สภาพคล่อง เช่น ฝากออมทรัพย์ เผื่อฉุกเฉินจะได้นำมาใช้ได้สะดวก
9 – 20 กิโลเมตร ( 31 – 40 ปี )
ช่วงวัยนี้คุณจะเริ่มมีรายได้มากขึ้น ทำให้สามารถเริ่มลงทุนได้และรับความเสี่ยงได้มากกว่า โดยใช้วิ่งในเส้นทางที่สั้นๆที่สุด วิ่งวงใน ไม่วิ่งวงนอก
ซึ่งนานๆไประยะทางเล็กๆเหล่านี้จะช่วยประหยัดเวลาให้คุณได้มาก คล้ายกับการลงทุนให้มีดอกเบี้ย ทบต้นทบดอก ที่จะสะสมเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
21 – 32 กิโลเมตร ( 41 – 49 ปี)
ช่วงนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นวัยกลางคนแล้ว บางคนก็อาจเริ่มมีครอบครัว ทำให้ต้องระวังความเสี่ยงมากๆ ระวังหลุมตามพื้นเอาไว้บ้าง กระจายความเสี่ยง เอาไว้ในหลายสินทรัพย์ และอาจเพิ่มในส่วนของการทำประกัน
และอย่าวิ่งเร็วเกินไป แข่งกับตัวเอง ไม่ต้องแข่งกับคนอื่น บริหารเงินให้ เหมาะสมกับตัวเอง ไม่ใช่จ่ายเกินตัวจนเป็นหนี้
10 กิโลเมตรสุดท้าย ( 50 – 59 ปี )
เมื่อเข้าถึงช่วงปลายของการวิ่ง ร่างกายจะมีการอ่อนล้าสะสม และขาดน้ำ คุณควรจะวางแผนและบริหารแรงของคุณให้ดี ก็เหมือนกับช่วงใกล้เกษียณที่หลายคนเริ่มอ่อนล้าจากการทำงาน และใกล้เกษียณแล้ว
จึงทำให้ไม่ควรก่อหนี้เพิ่ม และควรประเมินระยะเวลาที่ต้องเกษียณให้ดี จะได้เตรียมเงินทัน รวมถึงอาจหารายได้เสริมไว้บ้าง เพื่อคุณจะได้สบายขึ้น
เมื่อทุกอย่างพร้อม คุณก็ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการเกษียณอีกต่อไป ที่คุณต้องทำก็แค่วิ่งเข้า เส้นชัยชีวิต ของคุณอย่างสบายใจ และไม่ต้องเหนื่อยมาก
ด้วยความปรารถนาดีจาก FINSTREET