สังคมผู้สูงอายุกำลังจะมา สวนทางอัตราการเกิดที่ลดลง แถมปัญหาโควิดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้อนาคตผู้สูงอายุไทยอย่างเราๆต้องปรับตัวกันมากขึ้น รวมถึงต้องเตรียมเงินสำหรับเกษียณมากกว่าเดิม
“กว่าจะแก่อีกนาน ค่อยเก็บเงินก็ได้ ”
เชื่อว่าคงมีหลายๆคนที่คิดแบบนี้ แต่รู้หรือไม่ครับว่าในยุคสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะมาถึง ยิ่งคุณออมช้า มีเงินเก็บน้อย ชีวิตเกษียณ ของคุณก็จะยิ่งลำบากขึ้น !
สังคมสูงอายุ…ที่ไม่มีเงินเกษียณ
- คนไทยมีแนวโน้มที่จะอายุยืนยาวกันมากขึ้น ซึ่งถ้ายิ่งมีอายุมากขึ้น แล้วเตรียมเงินเกษียณไว้ไม่พอ เงินที่เตรียมไว้ในแต่ละเดือนก็อาจจะยิ่งไม่พอใช้
- เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทุกปี คุณจำได้มั้ยครับ ว่าก๋วยเตี๋ยวเมื่อสิบ-ยี่สิบปีที่แล้ว ราคาตอนนั้นเท่าไหร่ แล้วตอนนี้เท่าไหร่ แล้วคิดว่าอีกยี่สิบสามสิบปีของจะแพงขนาดไหน ซึ่งถ้าคุณเตรียมเงินไว้ไม่พอกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเงินเกษียณของคุณก็จะหมดไปอย่างรวดเร็ว
- ยิ่งคุณมีอายุมากเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะเพิ่มขึ้น ซึ่งหากเกิดโรคร้ายแรงขึ้นมาแล้วไม่มีเงินเก็บตอนเกษียณการรักษาก็อาจจะลำบากมากขึ้น
อยากเกษียณสบาย ต้องมีเงินเท่าไหร่ ?
อันดับแรกที่ต้องคิดคือเงินที่จะต้องใช้ตอนเกษียณ จะต้องมีจำนวนเท่าไหร่ถึงจะอยู่ได้แบบสบายๆ สำหรับแนวคิดในการคำนวณเงิน เกษียณ มีหลายแนวคิด สูตรที่เรานำมาเสนอนี้ ใช้แนวคิดที่ว่า
“ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนหลังเกษียณ เท่ากับ 70 % ของค่าใช้จ่ายรายเดือนก่อนเกษียณ“
เนื่องมาจากสมมติฐานว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่บ้านเฉยๆ ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อเดือนลดลงนั่นเองครับพอคำนวณตามสูตรแล้ว จะได้จำนวนคร่าวๆของเงินเกษียณที่เราต้องมี
จากนั้นนำจำนวนที่เงินที่ได้มาคำนวณเงินเฟ้อโดยใช้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 3% ต่อปี เหตุผลที่ต้องปรับเงินเฟ้อคือ เพราะในอนาคตสินค้าและบริการจะปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้เราต้องเผื่อค่าใช้จ่ายไว้สำหรับกรณีเงินเฟ้อสูงขึ้นด้วย
สุดท้ายคือนำเงินที่เราต้องเตรียมเพื่อเกษียณ มาลบกับเงินที่เรามีอยู่แล้ว จะทำให้ทราบว่า เงินที่เราต้องออมเพิ่มอีกไหร่ เราลองมาดูตัวอย่างการคำนวณเงินเกษียณ และเงินที่ต้องออมเพิ่มกันเลยครับ
อยากมีเงินออมเกษียณ ออมอย่างไรได้บ้าง ?
หลังจากที่รู้กันไปแล้วว่า เงินที่คุณควรจะออมเพื่อเกษียณควรจะเป็นเท่าไหร่ และควรจะออมเพิ่มอีกเท่าไหร่ เราไปดูกันว่า คุณจะสามารถเตรียมการเกษียณในรูปแบบไหนได้บ้าง
1. ออมบำเน็จบำนาญแบบบังคับ
- กองทุนประกันสังคม จะเป็นระบบการออมภาคบังคับของ ลูกจ้างภาคเอกชน และลูกจ้างชั่วคราวของทางราชการ
- กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จะเป็นระบบการออมภาคบังคับของข้าราชการ
- กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) จะเป็นระบบการออมภาคบังคับของลูกจ้างเอกชนที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(PVD)
2. ออมบำเหน็จบำนาญแบบสมัครใจ
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เป็นกองทุนสมัครใจ สำหรับลูกจ้างบริษัทเอกชน และรัฐวิสาหกิจ
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นกองทุนสมัครใจ สำหรับบุคคลที่มีอาชีพอิสระ
- กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นกองทุนที่ให้ผลประโยชน์ทางภาษีโดยมีนโยบายในการลงทุนในหุ้นสามัญ เหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นการออมเพื่อการเกษียณแบบสมัครใจ โดยมีผลประโยชน์ทางภาษีด้วย
3. การประกันชีวิตแบบเงินได้ประจำ
เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเท่ากันอย่างสม่ำเสมอ ให้แก่ผู้เอาประกันภัยทุกเดือน นับแต่ผู้เอาประกันภัยเกษียณอายุ
4. ลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ
การออมเพื่อเตรียมเกษียณผ่านการลงทุนสินทรัพย์ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ พันธบัตร หรือกองทุนรวม ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี เพราะสามารถลดผลกระทบของเงินเฟ้อได้ และอาจได้ผลตอบแทนสูงอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าเราสามารถออมเกษียณได้หลายวิธีเลย สุดท้ายนี้ พี่โอกาส อยากให้ทุกคนวางแผนการเงิน และวางแผนเกษียณเผื่อไว้ตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อจะได้มีชีวิตเกษียณสุขกันทุกคนนะครับ