เชื่อว่าหลายๆคนคงรู้จัก ประกันสังคม กันเป็นอย่างดีเพราะเป็นสวัสดิการพื้นฐานของรัฐ ที่มอบให้กับลูกจ้างอย่างเราๆ ซึ่งนอกจากจะให้สิทธิการรักษาสุขภาพเเละชดเชยรายได้ในกรณีว่างงานแล้วประกันสังคมยังให้ สิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในกรณีเสียชีวิต ด้วย
โดยสามารถเบิกได้ทั้งค่าทำศพ เงินสงเคราะห์ และเงินบำเหน็จชราภาพ แต่ในปีที่ผ่านมาทั้งผู้ประกันตนมาตรา 33, 39, 40 มีการขอเบิกเพียง 2 หมื่นกว่าครั้งเท่านั้น !
วันนี้พี่โอกาสเลยจะมาแนะนำว่า สิทธิประกันสังคมไหนเบิกค่าใช้จ่ายอะไรได้เท่าไหร่บ้าง ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยครับ
1. ค่าทำศพ
เมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบ ครบ 1 เดือนภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนเสียชีวิต ด้วยเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ผู้จัดการศพจะได้รับเงิน ค่าทำศพ 50,000 บาท (ตั้งแต่ 2 ก.ค. 2563)
ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 40 กรณีเสียชีวิต ถ้าจ่ายเงินสมทบมา 6 ใน 12 เดือน ก่อนเสียชีวิต หรือเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุแล้วจ่ายเงินสมทบมา 1 ใน 6 เดือน ก่อนเสียชีวิต ผู้จัดการศพจะได้รับค่าทำศพดังนี้
- ทางเลือกที่ 1 (จ่าย 70 บาทต่อเดือน) ได้เงินค่าทำศพ 20,000 บาท
- ทางเลือกที่ 2 (จ่าย 100 บาทต่อเดือน) ได้เงินค่าทำศพ 25,000 บาท
- ทางเลือกที่ 3 (จ่าย 300 บาทต่อเดือน) ได้เงินค่าทำศพ 50,000 บาท
ผู้จัดการศพ คือบุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้จัดการศพ และได้เป็นผู้จัดการศพของผู้ประกันตน โดยต้องมีหลักฐานจากฌาปนสถานหรือมัสยิด
- ดาวน์โหลด หนังสือรับรองการเป็นผู้จัดการศพ
ส่วนกรณีไม่ได้ระบุให้ใครเป็นผู้รับ ประกันสังคมจะจ่ายให้ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย คือคู่สมรส บิดามารดา หรือทายาทของผู้ประกันตนที่มีหลักฐานแสดงว่าเป็น ผู้จัดการศพ โดยผู้รับสิทธิต้องมีแบบฟอร์มประกันสังคมกรณีเสียชีวิตดังนี้ :
แบบฟอร์ม ค่าทำศพ กรณีเสียชีวิต
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย >> สปส. 2-01
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้จัดการศพพร้อมตัวจริง
- หลักฐานจากฌาปนสถานหรือมัสยิดที่แสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ
- สำเนาใบมรณบัตรพร้อมตัวจริง
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์
ดาวน์โหลดแบบฟอร์มประกันสังคม กรณีเสียชีวิตทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ กองทุนประกันสังคม
2. เงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนเสียชีวิต
ประกันสังคมจะจ่ายให้บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์นั้น แต่ถ้าผู้ประกันตนไม่ได้ระบุไว้ก็ให้นำมาเฉลี่ยจ่ายให้กับ คู่สมรส บิดามารดา หรือทายาทของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน ดังนี้
เงินสงเคราะห์ ประกันสังคมมาตรา 33 หรือ 39
- ถ้าก่อนเสียชีวิต ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับ ค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน
- ถ้าก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้ว ตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับ ค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน
เงินสงเคราะห์ ประกันสังคมมาตรา 40
กรณีจ่ายประกันสังคมมาตรา 40 แบบทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 หากจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 60 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต จะได้รับเงินสงเคราะห์ 8,000 บาท
แบบฟอร์ม ประกันสังคม กรณีเสียชีวิต :
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย >> สปส. 2-01
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของ ผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์
- สำเนาทะเบียนสมรสของผู้ประกันตนและของบิดามารดาของผู้เสียชีวิต (ถ้ามี)
- สำเนาสูติบัตรของบุตร หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของบุตรกรณีไม่มีสูติบัตร
- หนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย (ถ้ามี)
ดาวน์โหลดแบบฟอร์มทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ กองทุนประกันสังคม
3. เงินบำเหน็จชราภาพ
- กรณีแรก ถ้าผู้ประกันตน เสียชีวิตก่อน 55 ปี แล้วจ่ายสมทบน้อยกว่า 12 เดือน ผู้รับประโยชน์จะได้ประโยชน์ทดแทนแบบบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวนเงินเท่ากับเงินสมทบ ที่ผู้ประกันตนจ่าย
- กรณีที่สอง ถ้าผู้ประกันตน เสียชีวิตก่อน 55 ปี แล้วจ่ายสมทบมากกว่า 12 เดือน ผู้รับประโยชน์จะได้ประโยชน์ทดแทนแบบบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวนเงินเท่ากับเงินสมทบ ที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่าย
- กรณีสุดท้าย หากผู้ประกันตน เสียชีวิตภายใน 5 ปี หลังรับสิทธิบำนาญชราภาพ ผู้รับประโยชน์จะได้ประโยชน์ทดแทนเป็นเงิน 10 เท่าของเงินบำนาญรายเดือน
ส่วนกรณีผู้ประกันตนมาตรา 40 เสียชีวิต ให้ยื่นคำขอรับ เงินไม่พึงชำระคืน (สปส.1-40/5) และ เงินสมทบล่วงหน้าคืน (สปส.1-40/3) ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รู้ว่ามีสิทธิรับเงินคืน หรือภายใน 10 ปี นับแต่วันที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน
ขอบคุณข้อมูลจาก : กองทุนประกันสังคม
*อัพเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563