Home / บทความทั้งหมด / แฉกลโกง ! แชร์ลูกโซ่คืออะไร รู้ไว้ไม่โดนหลอก

แฉกลโกง ! แชร์ลูกโซ่คืออะไร รู้ไว้ไม่โดนหลอก

เชื่อว่าไม่มีใครที่ไม่อยากรวย เพราะการมีเงินใช้ เกษียณเร็ว และการมีอิสระทางการเงินตลอดชีวิต ต่างเป็นความฝันที่คนสมัยนี้อยากจะให้กลายเป็นจริงกันทั้งนั้น

ซึ่งการที่จะทำความฝันนี้เป็นจริงได้ นอกจากจะต้องมีรายได้เยอะๆแล้ว ยังต้องรู้จักสิ่งที่เรียกว่า การลงทุน อีกด้วย

ปัจจุบันมีการลงทุนรูปแบบต่างๆเกิดขึ้นมากมาย บางการลงทุนเสี่ยงมาก บางการลงทุนเสี่ยงน้อย แต่ไม่ว่ายุคสมัยจะผ่านไปนานเท่าไหร่ การต้มตุ๋นที่แอบแฝงมากับการลงทุนก็ยังมีให้เห็นอยู่เสมอ และหนึ่งในนั้นคือ แชร์ลูกโซ่

วันนี้พี่โอกาสจะออกมาแฉว่า แชร์ลูกโซ่คืออะไร มีวิธีการอย่างไร และจะรู้ได้อย่างไรว่าแบบไหนคือแชร์ลูกโซ่ ไม่แน่นะครับ สิ่งที่คุณกำลังลงทุนอาจจะเป็นแชร์ลูกโซ่แอบแฝงมา ก็เป็นได้..

แชร์ลูกโซ่คืออะไร ?

แชร์ลูกโซ่ คือการระดมทุนจากสมาชิก โดยมีผลตอบแทนที่สูงเกินจริงเป็นแรงจูงใจ และอ้างว่านำไปลงทุนในธุรกิจที่ได้กำไร ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่มีอยู่จริง

และสิ่งที่เป็นจุดเด่นของ แชร์ลูกโซ่เลยก็คือ “การชวนคน” ซึ่งระบบแชร์ลูกโซ่จะเป็นการนำรายได้ของสมาชิกใหม่ มาให้สมาชิกเก่าเป็นทอดๆ ต่อกันไปเป็นลูกโซ่ นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า แชร์ลูกโซ่

แชร์ลูกโซ่มีวิธีการหลอกลวงอย่างไร ?

สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยของแชร์ลูกโซ่ก็ คือการหลอกให้สมาชิกคิดว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นคือ การลงทุน ซึ่งจริงๆแล้วการลงทุนที่หัวแชร์กล่าวอ้างมักไม่มีอยู่จริง

เช่น แชร์แม่ชม้อยที่หลอกคนไปลงทุนรถน้ำมัน การฝากหรือการลงทุน forex ปลอมๆหลายเจ้าที่มักจะเป็นข่าวกันในปัจจุบัน

โดยหัวแชร์จะหลอกสมาชิกว่า เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่แท้ที่จริงแล้วเมื่อคุณวางเงินลงทุนไว้กับแชร์ บริษัทจะนำเงินของคุณ หรือสมาชิกที่คุณชวน มาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้คุณ และเก็บส่วนที่เหลือไว้

และเมื่อเห็นว่าการลงทุนมีผลตอบแทนแน่นอนก็อาจจะทำให้คุณลงทุนเพิ่ม และชวนคนมาเพิ่มอีกด้วย

และเมื่อแชร์มีสมาชิกเยอะจนมีเงินลงทุนมากพอสมควรแล้ว บริษัทก็จะปิดตัวลงแล้วหอบเงินหนีไป ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปพอสมควร กลุ่มคนเดิมๆก็จะกลับมาในรูปแบบการลงทุนๆใหม่อีกรอบ 

การลงทุนรูปแบบไหน อาจเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ?

การลงทุนที่ดูซับซ้อน เข้าใจยาก

เมื่อมีคนมาแนะนำการลงทุนที่ดูซับซ้อนและอธิบายยาก หลายๆคนมักจะทำเป็นเข้าใจ เพราะไม่อยากเสียหน้า ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการโน้มน้าว ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ อย่าลงทุนในสิ่งที่ไม่เข้าใจ ถ้าอยากลงทุนอะไรควรศึกษาาให้ดีก่อน

มีการจ่ายค่าสมัครแรกเข้า

การมีค่าใช้จ่ายแรกเข้าที่สูง เป็นไปได้ว่าจะเป็นการนำเงินของเราไปจ่ายให้คนที่ชวนเรามา หรืออาจจะจ่ายให้เราเอง เพื่อหลอกว่าเป็นผลตอบแทน

ใช้ Bitcoin เป็นตัวกลางในการลงทุน

เนื่องจากการใช้ Bitcoin ในการทำธุรกรรมจะไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงทำให้มิจฉาชีพมักจะใช้เจ้าตัว Bitcoin เป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน เพราะฉะนั้นถ้าการลงทุนของคุณมีการใช้ Bitcoin เป็นสื่อกลาง ก็อาจจะต้องระมัดระวังมากขึ้นก่อนที่จะลงทุน

ผลตอบแทนแน่นอน สม่ำเสมอ

ในโลกของการลงทุน การได้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอมักไม่มีอยู่จริง เพราะตลาดการลงทุนมักจะมีการผันผวนบ้างไม่มากก็น้อย เพราะฉะนั้นถ้ามีคนมาบอกว่ามีการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนแน่นอน และสม่ำเสมอให้ระวังไว้ก่อนเลยว่าอาจจะเป็นแชร์ลูกโซ่ !

รับประกันผลตอบแทนสูงเกิน 10 % ต่อปี

โดยส่วนใหญ่แล้ว การลงทุนที่ได้ผลตอบแทนมากกว่า 10% ต่อปีมักจะเป็นไปได้ยาก หรือถ้ามีก็น้อยๆมาก หากมีใครมาบอกว่ามีการลงทุนที่ได้ผลตอบแทน 2 เท่า หรือเกิน 10% ต่อปีแน่นอน ให้ระวังไว้เลยว่า แชร์ลูกโซ่ชัวร์ !

5 เทคนิคจับโป๊ะ แชร์ลูกโซ่

หลังจากที่รู้กันไปแล้วว่า รูปแบบการลงทุนที่น่าจะเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่มีอะไรบ้าง โพสต์นี้เราจะมาดูวิธีจับผิดแชร์ลูกโซ่กัน ส่วนใหญ่แล้วถ้าเป็นแชร์ลูกโซ่มักจะมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้

1. ไม่มีใบอนุญาตแนะนำการลงทุน

เพราะใครก็ตามที่จะแนะนำการลงทุนได้นั้น ต้องมี ใบอนุญาตแนะนำการลงทุน (IC license) หากมีคนมาแนะนำการลงทุนกับคุณ ให้ลองถามเค้าไปว่า “มีใบอนุญาตแนะนำการลงทุนหรือเปล่า ?” ถ้าไม่มีก็สงสัยไว้ก่อนเลย

2. แหล่งลงทุนอยู่ต่างประเทศ

ข้อนี้ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว เพราะถ้าบอกว่ามีแหล่งลงทุนอยู่ต่างประเทศจะทำให้สมาชิกไม่สามารถตรวจสอบได้

3. นำเสนอ และแสดงออกเกินจริง

ถ้าคนที่ชวนคุณลงทุนมีคำพูดที่ใช้ตรรกะแปลกๆ ตะโกนเชียร์แบบผิดปกติ หรือชอบแสดงออกเกินจริงในโซเชียลมีเดีย ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าอาจจะเป็นแชร์ลูกโซ่

4. อ้างอิงบุคคลที่มีชื่อเสียง

บริษัทแชร์ลูกโซ่หลายแห่งมักอ้างคนที่ประสบความสำเร็จ และคนดังหลายๆคนเพื่อโน้มน้าว ให้สมาชิกอยากลงทุนเพิ่ม หรือชวนคนมาลงทุน

5. ไม่สามารถตรวจสอบงบการเงินได้

ข้อสุดท้ายหากคุณสงสัยว่าบริษัทที่คุณลงทุนเป็นแชร์ลูกโซ่หรือเปล่า วิธีที่สามารถทำได้เลยคือ เข้าไป ตรวจสอบงบการเงินกับเว็บไซต์ของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ถ้าบริษัทที่คุณลงทุนไม่สามารถตรวจสอบได้ ให้ระวังไว้เลยว่าอาจเป็นแชร์ลูกโซ่ !!

อ้างอิงจาก : Kapook

Droplead New

Let us know who you are