Home / บทความทั้งหมด / ลาออกจากงาน! เตรียมตัวยังไง ไม่ให้เงินช็อต?

ลาออกจากงาน! เตรียมตัวยังไง ไม่ให้เงินช็อต?

เตรียมตัว ลาออก

ถ้าทุกๆเช้าไม่อยากตื่นไปทำงาน งานที่ทำก็ไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตของคุณ ไม่ได้ช่วยให้เติบโตขึ้น มีทักษะเพิ่มขึ้น หรือเงินเดือนอาจไม่ตอบสนองความต้องการในชีวิต บางครั้งการลาออกจากงานก็อาจจะเป็นคำตอบครับ

แต่มาคิดดูอีกที “ลาออกจากงานไปแล้วจะเอาอะไรกิน” จะหางานใหม่ก็ยาก ทำธุรกิจก็เสี่ยง จะเรียนต่อปริญญาโท ค่าเทอมก็แพง ถ้าไม่เตรียมตัวให้ดี การเงินอาจมีปัญหาได้

วันนี้พี่โอกาสเลยจะมาแนะนำวิธีเตรียมตัวเรื่องการเงิน ก่อนคิดจะลาออกกันครับ จะได้ไปทำตามฝันกันแบบสบายโดยที่เงินไม่ช็อต !

ลาออก เตรียมตัวยังไง

1. เคลียร์หนี้ ให้มากที่สุด

ก่อนจะออกไปสู่โลกของการว่างงาน การเคลียร์หนี้ให้มากที่สุด เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเป็นอย่างแรก เพราะสำหรับบางคนหนี้ถือว่าเป็นรายจ่ายประจำ บางคนอาจเป็นหนี้ระยะยาว เช่น หนี้บ้าน หนี้รถ หรือบางคนอาจเป็นหนี้ระยะสั้น เช่น บัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคล

แนะนำว่าให้รีบปิดหนี้ระยะสั้นก่อนที่จะลาออก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับคุณ โดยควรเคลียร์หนี้ให้เหลือไม่เกินทรัพย์สินที่คุณมี หรือถ้าจ่ายไม่หมดจริงๆก็ควรมีเงินเก็บไว้สำหรับจ่ายหนี้ในช่วงหางานใหม่ด้วยครับ

2. เตรียมเงินสำรอง

ความเสี่ยงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจครับ ปกติถ้ามีงานอยู่แล้วควรต้องมีเงินสำรองประมาณ 3-6 เดือน เผื่อไว้สำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน เช่น ค่ารักษาพยาบาล, โอกาสลงทุนสำคัญๆ จ่ายหนี้ หรือค่าใช้จ่ายในระยะสั้น

แต่ถ้าลาออกความเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่ม เนื่องจากการขาดรายได้ในช่วงระหว่างการหางานใหม่ ดังนั้นแนะนำว่าถ้าคิดจะลาออก ควรมีเงินเก็บประมาณ 6-12 เดือนดีกว่าครับ

3. มีรายได้เสริม

ระหว่างช่วงก่อนลาออก และระหว่างที่ว่างงาน ควรมีช่องทางรายได้เสริมด้วยนะครับ อาจเป็นสิ่งที่คุณถนัด หรืองานที่ทำได้จากที่บ้านก็ได้ครับ บางทีงานเสริมของคุณอาจสร้างรายได้ให้คุณมากกว่างานประจำที่ทำก็ได้ !

สำหรับใครที่ไม่รู้ว่าจะหารายได้เสริมยังไง ลองดูจาก แผนผังสร้างอาชีพ ตามรูปนี้เลยก็ได้ครับ ลองเริ่มต้นจากเขียนสิ่งที่เรามีลงไป

เช่น มีความรู้ด้านไหน มีประสบการณ์เชี่ยวชาญ ตอนว่างๆชอบทำอะไร ช่วยใครได้บ้าง และทำผ่านช่องทางไหน แล้วเอามันมาต่อยอดสร้างรายได้ให้ตัวเอง

4. สมัครบัตรเครดิต

สาเหตุที่ต้องเตรียมตัวเรื่องนี้ก็เพราะว่า ถ้าไม่ได้ทำงานประจำแล้ว การสมัครบัตรเครดิตอาจจะทำได้ยากขึ้น เนื่องจากไม่มีสลิปรับรองเงินเดือน และ statement ย้อนหลัง รวมถึงสถาบันการเงินอาจมองว่าคุณขาดความสามารถในการชำระหนี้

ดังนั้นสำหรับใครที่ลาออกมาแล้ว และไม่คิดที่จะทำงานประจำต่อ อยากเป็นฟรีแลนซ์ไปยาวๆ การสมัครบัตรเครดิตเผื่อเอาไว้สักใบก็ไม่ได้แย่ครับ เพราะอาจจะช่วยเพิ่มสภาพคล่อง และให้สิทธิประโยชน์บางอย่างได้ แต่ก็อย่ารูดเพลินจนเป็นหนี้นะครับ !

5. ขึ้นทะเบียนคนว่างงาน

สำหรับพนักงานบริษัท ใครที่จ่ายประกันสังคมมาไม่น้อยกว่า 6 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนว่างงาน อย่าลืมไปลงทะเบียนคนว่างงานภายใน 30 วันด้วยนะครับ

เพราะกรณี “ลาออก” สามารถของเงินชดเชยจากประกันสังคมได้ 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย ปีละไม่เกิน90 วัน และคิดจากฐานสมทบสูงสุด 15,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นเงินชดเชยสูงสุดเดือนละ 4,500 บาท

สำหรับใครที่ต้องการสภาพคล่องในช่วงระหว่างที่ว่างงานอยู่ เงินก้อนนี้ถือว่าช่วยได้มากเลยครับ หากต้องการขึ้นทะเบียนคนว่างงาน ผู้ประกันตนสามารถเข้าไปลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ของกรมจัดหางานตามลิงก์นี้เลย : กรมจัดหางาน

สรุป

สุดท้ายนี้อยากฝากไว้ว่า การลาออก คือ “ความเสี่ยง” ครับ แต่การทำงานที่ไม่ได้มีการพัฒนาและไม่ตอบโจทย์ชีวิต มันก็เป็นความเสี่ยงเช่นกัน เพราะฉะนั้นลองทบทวนเปรียบเทียบกันให้ดีนะครับ และอย่ารีบตัดสินใจโดยไม่วางแผนการเงิน !

ด้วยความปรารถนาดีจาก : FINSTREET

Droplead New

Let us know who you are