ยามรัก น้ำต้มผัก ยังว่าหวาน หลายคนก็เลยตัดสินใจกู้ร่วม ซื้อบ้านร่วมกัน แต่ผ่อนไปได้ไม่ถึงปี ความรักก็มาถึงทางตันจนต้องเลิกกัน แล้วแบบนี้บ้านที่ผ่อนอยู่ เอาไงต่อดีเนี่ย
หลายคนอาจคิดว่า “ก็เลิกกันแล้ว ให้มันจบๆไป” แต่ถ้ายังกู้ร่วมกันอยู่ ยังไงก็จบไม่ได้ครับ สำหรับใครที่กำลังเจอปัญหานี้ ไม่ต้องกังวลไป วันนี้พี่โอกาสมีทางออกมาให้แล้ว!
ก่อนกู้ร่วมกัน ต้องคิดดีๆ
แม้การกู้ร่วมจะช่วยให้กู้ผ่านง่ายขึ้น ได้วงเงินมากขึ้น และถือว่าเป็นการกระจายความเสี่ยง แต่จะถือว่าผู้กู้บ้านมีภาระหนี้ร่วมกัน และมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน (ในกรณีใส่ชื่อหลายคน)
การกู้ร่วมกันถือเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับคู่รักที่อยากแบ่งเบาภาระในการซื้อบ้าน แถมยังช่วยเพิ่มวงเงินในการกู้ได้ เพราะเงินเดือนรวมกันทำให้ความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น
ทำให้เวลาจะทำธุรกรรมอะไรต้องได้รับการยอมรับจากผู้กู้ทุกคน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีปัญหากันจากตรงนี้ เพราะฉะนั้นแล้วแนะนำว่า ถ้าจะกู้ร่วมกับใครต้องดูให้ดีก่อนนะครับ
กู้ร่วมกันแล้วเลิกกัน เอาไงต่อ?
1. ถอดถอนชื่อผู้กู้ร่วม
สำหรับวิธีนี้จะเหมาะกับแฟนเก่าที่ สามารถผ่อนต่อคนเดียวได้ และตกลงกันได้ ว่าใครจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ซึ่งอีกฝ่ายจะต้องยินยอมเซ็นด้วยนะครับ
ถ้าไม่ยินยอมจะไม่สามารถถอนชื่อผู้กู้ร่วมได้ แต่หากเคลียร์กันเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถไปโอนกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดินได้เลยครับ
กู้ร่วมจดทะเบียน vs ไม่จดทะเบียนสมรส
กรณีซื้อบ้านร่วมกัน แต่ไม่จดทะเบียนสมรส ต้องทำ “สัญญาจะซื้อจะขาย” บ้านและที่ดิน แล้วทำการโอนเปลี่ยนชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมประมาณ 5% ของราคาบ้านและที่ดิน
ส่วนกรณีซื้อบ้านร่วมกัน แล้วยังจดทะเบียนสมรสกันอยู่ และกู้ร่วมหลังจดทะเบียนสมรสกันแล้ว บ้านจะถือว่าเป็น “สินสมรส” ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อขายบ้านและที่ดิน เช่น ภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือค่าธรรมเนียมในการโอน
แต่ก็มีบางกรณีนะครับที่ธนาคารเค้าไม่อนุมัติ ให้ถอดถอนชื่อ เนื่องจากผู้กู้ที่ผ่อนต่อ ไม่มีความสามารถในการผ่อน ต่อคนเดียว ถ้าเป็นแบบนี้อาจจะต้องปรึกษาธนาคารหาวิธีอื่น หรือให้พ่อแม่พี่น้องมาเป็นผู้กู้ร่วมแทนก็ได้ครับ
2. รีไฟแนนซ์มากู้คนเดียว
สำหรับแฟนเก่าที่ยื่นถอดถอนไม่ผ่าน อาจจะลองรีไฟแนนซ์เป็นกู้คนเดียวกับธนาคารอื่นดูก็ได้ครับ ข้อดีของการกู้แบบนี้ก็คือ จะทำให้ดอกเบี้ยต่ำลงช่วงแรก (ควรรีไฟแนนซ์ทุกๆ 3 ปี)
ธนาคารจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ซึ่งเราอาจจะรีไฟแนนซ์ไม่ผ่านก็ได้ครับ แต่ถ้าธนาคารอนุมัติ ในขั้นตอนจดจำนองรีไฟแนนซ์ใหม่ ขั้นตอนสุดท้ายคือต้องนัดผู้กู้ร่วมมาเซ็นยินยอมด้วยครับ
3. ประกาศขายทิ้ง
สุดท้ายสำหรับแฟนเก่าที่ไม่อยากผ่อนต่อ และไม่อยากเก็บบ้านไว้ทั้งคู่ โดยสามารถตกลงกันได้ การประกาศขายทิ้งคงน่าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายครับ
ซึ่งวิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เพราะจบปัญหาได้โดย ไม่ต้องรับภาระผ่อนทั้งคู่ โดยอาจจะขายแล้วนำไปโปะธนาคาร แล้วนำเงินที่เหลือมาแบ่งกัน หรือบางกรณีก็อาจจะได้รับเงินที่ผ่อนไปกลับมา แล้วผู้ซื้อผ่อนต่อที่เหลือก็ได้ครับ
แต่การขายบ้าน หรือคอนโดก็อาจไม่ได้ง่าย จะต้องคำนวณค่าใช้จ่ายให้ดี ตั้งราคาให้เหมาะสม และควรประกาศขายให้ถูกแหล่งด้วยครับ
สรุป
หากซื้อบ้านร่วมกัน แต่เลิกกันภายหลัง เราจะมีวิธีจัดการกับการกู้ร่วมหลายแบบ ถ้ายังต้องการบ้านอยู่ ให้ตกลงกันให้ดีว่า ใครจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แล้วไปยื่นถอดถอนชื่อกับธนาคาร หรือจะรีไฟแนนซ์ไปธนาคารใหม่ก็ได้ แต่ถ้าไม่อยากผ่อนต่อแนะนำให้ประกาศขายทิ้งไปเลยครับ