Home / บทความทั้งหมด / เพลงลูกทุ่ง ‘เพลงสะท้อนสังคม’ ปัญหาการเงินของคนไทย ที่ยังมีอยู่

เพลงลูกทุ่ง ‘เพลงสะท้อนสังคม’ ปัญหาการเงินของคนไทย ที่ยังมีอยู่

เพลงลูกทุ่ง

“เพลงลูกทุ่ง” เป็นอีกหนึ่งศิลปะที่สะท้อนถึงสภาพสังคมและวิถีชีวิตของคนไทยได้เป็นอย่างดี ด้วยท่วงทำนองครื้นเครง สนุกสนาน หรือเศร้าโศก ทำให้เพลงลูกทุ่งสื่อความหมายได้อย่างหลากหลาย เช่น ความรัก ความฝัน ความผิดหวัง ความสำเร็จ และความยากจน

ถ้าจะเรียกว่าเป็น “เพลงสะท้อนสังคมไทย” คงจะไม่ผิดมากนัก ว่ากันว่า เพลงถูกเขียนมาจากชีวิตจริง และชีวิตจริงมักมีเรื่องปัญหาการเงินมาเกี่ยวข้องด้วย

ดังนั้น FINSTREET จะชวนทุกคนสืบเสาะเนื้อเพลงของเพลงลูกทุ่งเพราะๆ ว่ามีปัญหาการเงิน และ ความยากจน อะไรแฝงอยู่บ้าง

ทำไมความยากจนถึงอยู่กับคนจนอยู่วันยังค่ำ?

ก่อนจะไปสืบค้นเรื่องราวของเนื้อเพลงลูกทุ่งที่มีปัญหาการเงินและความยากจนแฝงอยู่ อยากทราบว่าทุกคนมีความคิดเห็นเรื่องปัญหาการเงินและความยากจนของคนไทยอย่างไรกับบ้างครับ?

ที่คนจนยังจนอยู่วันยังค่ำเป็นเพราะอะไร แล้วทำไมคนรวยถึงรวยขึ้นแบบไม่มีวันจบสิ้น

ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะระบบโครงสร้างทางสังคม ที่ไม่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงสิทธิในการทำมาหากินอย่างเท่าเทียม มีความเหลื่อมล้ำในทุกชนชั้นที่ถูกแบ่งแยกตามฐานะ

คนจนจึงถูกนิยามว่าเป็น “คนรากหญ้า” และที่ยังจนอยู่ทุกวันนี้เป็นเพราะว่าขี้เกียจ ไม่รู้จักหาเลี้ยงชีพ ทำงานก็ไม่เก็บหอมรอมริบ เลยไม่รวย

แต่ในความเป็นจริงคนชนชั้นแรงงานที่โดนตราหน้าว่าเป็นคนรากหญ้า ถูกระบบโครงสร้างทางสังคมกดทับ ปากกัดตีนถีบหาเช้ากินค่ำก็ยังไม่พอ

ทั้งที่ทำงานหนักพอๆ กับคนอื่น แต่ก็ไม่มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง เพราะพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงทรัพยาการในการหาเงินได้เหมือนคนชนชั้นอื่นๆ 

หรือคนมีอำนาจที่ทำธุรกิจกินรวบ ผูกขาดกับตลาด กดค่าแรงแบบไม่เป็นธรรม หรือสารพัดวิธีที่จะไม่ให้เม็ดเงินไหลมาสู่คนชนชั้นอื่นๆ ที่ทำมาหากิน แล้วแบบนี้คนจนจะมีโอกาสรวยได้อย่างไรกันเล่า

จึงเป็นที่มาของคำว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” รวยกันเป็นหย่อมๆ ส่วนคนจนก็ขัดสนข้นแค้นไปจนวันตาย

ความยากจนที่แอบแฝงอยู่ในเนื้อเพลงลูกทุ่ง

เพลงเป็นสิ่งจรรโลงใจ ที่ทำให้ผู้ฟังมีความสุข รู้สึกผ่อนคลายทุกครั้งที่ได้ฟัง แต่เนื้อเพลงบางเพลงก็ถูกเขียนมาจากประสบการณ์จริง เพราะเมื่อลองอ่านเนื้อเพลงดีๆ จะมีความหมายหลายอย่างซ่อนอยู่

หนึ่งในนั้นคือความหมายของปัญหาการเงินในครอบครัว ปัญหาการเงินของคน ความยากจนที่ถูกสื่อออกมาจากเพลงเหล่านี้ ยังมีเกิดขึ้นจริงๆ ในสังคมไทย เชิญรับชมเพลย์ลิสต์เพลงลูกทุ่งเพราะๆ กันได้เลยครับ

1. เงินน่ะมีไหม – พุ่มพวง ดวงจันทร์ พ.ศ.2532

ราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่มีบทเพลงติดหูหลายเพลงมากๆ เชื่อเลยว่าใครที่เคยดูชิงช้าสวรรค์​ หรือโตมากับเพลงลูกทุ่งต้องคุ้นชินทำนองและเนื้อเพลงของแม่ผึ้งแน่นอน

อีกทั้งหลายๆ เพลงยังถูกนำไปใช้ประกวดร้องเพลงตามเวทีต่างๆ อีกด้วย ซึ่งเพลงที่พูดถึงปัญหาการเงินของคนไทยคือ “เงินน่ะมีไหม”​ ความรักที่มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องทำให้เรื่องราวไม่ราบรื่นอยู่แล้ว

เนื้อเพลง เงินน่ะมีไหม : พุ่มพวง ดวงจันทร์

“แต่ตอนนี้ ฉันเดือดร้อน หาเงินผ่อนแขกไม่ไหว ฉันเดือดร้อน อีกตั้งบาน ค่าเช่าบ้าน ก็ยังติดไว้ ฉันรักเธอ ไม่ได้หวังกอบโกย โอ่ย โอย โอย โอ๊ย แต่เงินมีไหม เงินน่ะมีไหม”

คำว่า ผ่อนแขก หมายถึงว่า เงินที่ไปกู้ยืมแขกมา ในสมัยนั้นมีการยืมเงินแขกแล้วถูกเก็บเงินรายวันในทุกวัน ถ้าไม่มีเงินผ่อนแขก ก็จะโดนเก็บดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ อีกทั้งไหนจะค่าเช่าบ้าน และค่าอะไรอีกสารพัด

ซึ่งในยุคปัจจุบันก็ยังมีเงินแขก หรือ เงินนอกระบบให้เห็นอยู่ทั่วไป และยังมีคนต้องเช่าบ้านอยู่จริงๆ เพราะไม่มีรายได้คงที่ เมื่อเงินไม่พอก็ต้องลงท้ายด้วยการยืมเงินคนอื่น ซึ่งในเนื้อเพลงก็กล่าวถึงแบบนั้นเช่นกัน

2. ยาใจคนจน – ไมค์​ ภิรมย์พร พ.ศ.2542

ไมค์​ ภิรมย์​พร ขวัญใจชาวแรงงานที่แทบทุกบทเพลงถูกเขียนขึ้นมาจากชีวิตจริงที่เข้าใจดีถึงความรู้สึกของชนชั้นแรงงาน​ ถูกแต่งโดยครูสลา คุณวุฒิ นักแต่งเพลงมือทองแห่งค่ายแกรมมี่โกลด์ โดยเนื้อเพลงถ่ายทอดความรู้สึกของชีวิตที่ทุกข์ยากบวกกับการมีความรักควบคู่กันไปด้วย

เนื้อเพลง ยาใจคนจน : ไมค์​ ภิรมย์พร

“เป็นแฟนคนจน ต้องทนหน่อยน้อง พี่นี้ไม่มีเงินทอง มารองรับความลำบาก ในแต่ละวัน พี่นั้นต้องทำงานหนัก ถ้าไม่มีใจรัก ใครหนอจะร่วมทางได้”

การบอกเล่าเรื่องราวชองผู้ชายคนหนึ่งที่ทำมาหากินเลี้ยงชีพตัวเอง และกลัวว่าคนรักจะทิ้งตนเองไป เพราะทำให้ต้องกัดก้อนเกลือกิน เงินทองก็ไม่มี ถ้าลำบากขึ้นมาก็ไม่มีอะไรรองรับความลำบากเลย ล้มแบบไม่ได้ลุกแน่นอน ชีวิตก็ไม่ได้สุขสบายอย่างใครเขา

บทเพลงนี้สะท้อนให้เห็นว่า ในทุกๆ วันยังมีคนทำงานหนัก แต่ค่าแรงที่ได้รับไม่สอดคล้องกับความเหนื่อยที่เสียไป

3. กระเป๋าแบนแฟนทิ้ง – เอกราช สุวรรณภูมิ พ.ศ.2546

เอกราช สุวรรณภูมิ อีกหนึ่งนักร้องชื่อดังแห่งค่ายแกรมมี่โกลด์ ผู้เป็นต้นฉบับเพลง “กระเป๋าแบนแฟนทิ้ง” ผู้แต่งยังเป็นนักแต่งเพลงมือฉมังคนเดิม คือ ครูสลา คุณวุฒิ

โดยครูสลาเล่าในรายการคุณพระช่วยว่า แต่งจากเรื่องจริงของชีวิตนักร้องคนหนึ่ง ที่เป็นเสมือนลูกศิษย์ ถูกแฟนทิ้งเพราะรอ​ (ความดังจากการมีชื่อเสียง) ไม่ไหว เลยหนีจากไป เพราะอยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้

เนื้อเพลง กระเป๋าแบนแฟนทิ้ง : เอกราช สุวรรณภูมิ

“เหตุผลคนดี เพราะบัญชีเงินพี่ติดหล่ม ความรักจึงล่ม ยามจมพี่เสื่อมราศี หวังเธอเป็นยารักษายามดวงไม่ดี แต่แล้วน้ำใจแฟนพี่ ก็มีให้เพียงครึ่งทาง”  และ “รักขมเมื่อคราวกระเป๋าแบนแบนถูกแฟนตีจาก”

จริงๆ แล้วแค่อ่านชื่อเพลงก็พอจะเดาเส้นทางเรื่องได้แล้วว่า กระเป๋าแบนแฟนทิ้งหมายถึงกระเป๋าไม่มีเงิน ไม่มีรายได้มากพอ ที่จะนำพาคนรักไปสู่ในชีวิตที่ดี เมื่อเงินขาดมือจึงทำให้ ชีวิตคู่ ต้องพังสทายลงต่อหน้าต่อตา

“เพราะการกัดก้อนเกลือกิน มันคือความลำบากที่ไม่มีใครอยากเจอ”

ดังนั้น การมีเงินประทังชีพ ที่ยกระดับชีวิตขึ้น จึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดที่จะประคองความรักให้อยู่ตลอดรอดฝั่งได้ แต่ในสังคมไทยยังมีครอบครัวหรือคู่รักที่กำลังตกอยู่ในสถานะนี้อยู่ เพราะไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้

4. จำเสี่ยงเลี้ยงพ่อ – สุนารี ราชสีมา พ.ศ.2533

สุนารี ราชสีมา นักร้องหญิงที่เรียกได้ว่าเป็นตำนานอีกหนึ่งคน โดยเพลงจำเสี่ยงเลี้ยงพ่อ บอกเล่าเรื่องราวของลูกสาวที่ต้องยอมเสี่ยงจากบ้านเกิดเมืองนอน

ต้องเข้ามาทำงานในเมืองกรุง เพราะเงินที่มีไม่พอใช้ หากอยู่บ้านเกิดต่อไปรับรองได้เดือดร้อนกันทั้งครอบครัวแน่นอน โดยบทเพลงมีเนื้อเพลงที่กินใจมากๆ ทำให้หลายคนนึกถึงพ่อแม่ที่บ้านเกิด

เนื้อเพลง จำเสี่ยงเลี้ยงพ่อ : สุนารี ราชสีมา

“ไม่ต้องห่วง เมืองหลวงก็เมืองเรา จงไว้ใจลูกสาว งานหนักเบาลูกทำได้ พอมีเงินเดือนจะรีบส่งไม่เสียดาย ลูกจะหามาให้ เพียงอวยชัยให้ลูกก็พอ”

การทำนาหรือการทำไร่ ถูกมองว่าเป็นอาชีพหลักของคนในต่างจังหวัดไปแล้ว ด้วยความเจริญที่ไม่เคยไปถึงจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยสักที ทั้งที่อาชีพเกษตกรควรเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ทำเงินได้ดี

สาเหตุที่เกษตรยังคงลำบาก อาจเป็นเพราะข้าวไทยส่งออกไม่ได้ ราคาข้าวไม่ดีพอ ซึ่งยังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้คนที่ไม่ได้อยู่กรุงเทพ ต้องระหกระเหเร่ร่อนเข้ามาในเมืองกรุงเพื่อหาเงินเลี้ยงทั้งครอบครัว

5. เพื่อแม่แพ้บ่ได้ – ศิริพร อำไพพงษ์ พ.ศ.2545

เอื้อยนาง-ศิริพร อำไพพงษ์​ เจ้าของฉายาแหบมหาเสน่ห์ นักร้องที่มีเสียงแหบอันเป็นเอกลักษณ์ ประจำค่ายแกรมมี่โกลด์ มีเพลงฮิตติดหูหลายคนที่มั่นใจได้เลยว่าต้องฮัมเพลงได้แน่ๆ เช่น ปริญญาใจ โลโซโบว์รัก

และยังมีโอกาสได้ร้องเพลงร่วมกับ Bodyslam “คึดฮอด” อีกด้วย แต่เพลงที่บ่งบอกถึงปัญหาการเงินและความยากจนที่ถูกขับร้องโดยเอื้อยนางคือ “เพื่อแม่แพ้บ่ได้”

เนื้อเพลง : เพื่อแม่แพ้บ่ได้ : ศิริพร อำไพพงษ์

“เขียนคำแม่สอน เป็นกลอนติดไว้ข้างฝา ย้ำเตือนผ่านตา ให้จำแม่ยังรอคอย อดทนสู้งาน เจ็บกำเพิ่มสิบเป็นร้อย เมื่อถึงวันที่รอคอย จะนำรอยยิ้มไปกราบแม่”

เนื้อเพลงที่บ่งบอกว่าชีวิตไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ต่อให้เจ็บปวดแค่ไหนก็ต้องอดทนสู้งาน เพื่อให้ได้เงินส่งกลับไปให้ครอบครัว โดยในเนื้อเพลงได้กล่าวถึงคำสอนของแม่ที่ฝากเอาไว้อีกด้วยว่าห้ามลืม

ซึ่งคำสอนที่ว่าคือ “อย่าดูถูกว่างานนั้นต่ำต้อย อย่าท้อถอยง่ายๆ ให้อายเขา เกิดมาเป็นคนจนต้องทนเอา” 

ข้อความนี้ทำให้ผู้รับสารรับรู้ได้เลยว่า คนที่กำลังตกอยู่ในสภาพนี้ไม่สามารถยอมแพ้อะไรได้ง่ายๆ งานอะไรก็ต้องทำเพื่อให้มีเงิน เกิดมาเป็นคนก็ต้องอดทนต่อให้เหนื่อยสักแค่ไหน แม้ว่าจะผ่านมาสักกี่ปี ก็ยังคงเป็นแบบนี้อยู่

ซึ่งถ้าสังคมไทยเลิกกดทับชนชั้นแรงงาน และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิ์ลืมตาอ้าปากอย่างเท่าเทียมคงจะดีกว่านี้

6. ดาวเต้น ม.ต้น –  ต่าย อรทัย พ.ศ.2547

ต่าย-อรทัย ดาบคำ หรือที่รู้จักกันในฉายาว่า “สาวดอกหญ้า” มีเพลงแจ้งเกิดคือดอกหญ้าในป่าปูน แต่งโดยครูสลา คุณวุฒิ

ซึ่งครูสลาเล่าในรายการคุณพระช่วยว่า ตามธรรมเนียมแล้วนักร้องที่กำลังจะเปิดตัว ต้องมีเพลงประจำตัวของตัวเองซึ่งเขียนขึ้นจากชีวิตจริงของนักร้องคนนั้น และเพลงดอกหญ้าในป่าปูนก็แต่งมาจากชีวิตของสาวต่ายจริงๆ

เป็นอีกหนึ่งเพลงที่ทำให้เห็นถึงวิถีชีวิตและความยากจนที่ เด็กนักเรียนคนหนึ่งต้องดิ้นรนทำมาหากิน ให้ตนเองและครอบครัวมีชีวิตรอด ซึ่งไม่สมวัยของเด็กคนนั้นเลย คือเพลง “ดาวเต้น ม.ต้น”

เนื้อเพลง : ดาวเต้น ม.ต้น : ต่าย อรทัย

“เป็นดาวประจำลำซิ่ง แต่ชีวิตจริงติดดิน แลกตังค์ค่าตัวพอกิน เป็นศิลปินแก้จน”

ชีวิตของสาวมอต้น ที่ต้องกลายเป็นเสาหลักของครอบครัวไปโดยปริยาย ด้วยการทำมาหากินอย่างการเป็นหางเครื่องบนเวที ในมุมหนึ่งที่มองว่าเด็กเป็นคนกตัญญู

แต่อีกมุมหนึ่งก็น่าอดสู ที่เด็กอายุ 15 ยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องถูกสายตาลวนลามจากคนดู เพียงเพื่อต้องแลกกับเงินเพื่อให้มีชีวิตรอดในวันต่อไป เพราะความอยากจนทำให้ไม่สามารถเลือกงานได้ อะไรที่พอจะทำได้แล้วได้เงินก็ต้องทำ

7. สิบหมื่น – มิตร ชัยบัญชา พ.ศ.2513

ชื่อเพลงที่คุ้นหูกันเป็นอย่างดีอย่าง “สิบหมื่น” เป็นเพลงประกอบละครเรื่องมนต์รักลูกทุ่ง ที่ถูกรีเมคมาแล้วหลายเวอร์ชั่น และถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อีกด้วย

คนร้องที่เป็นต้นฉบับจริงๆ คือ อ.เสน่ห์ เพชรบูรณ์ และถูกนำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา อีกหนึ่งพระเอกในดวงใจของใครหลายคนที่เสียชีวิตในภารกิจถ่ายละครเรื่อง “อินทรีแดง” ที่พัทยา

บทเพลงสิบหมื่น เป็นบทเพลงที่กล่าวถึง เรื่องสินสอดของการแต่งงาน ความรักจะสมหวังได้ก็ต่อเมื่อมีเงินค่าสินสอดที่ฝั่งพ่อแม่เจ้าสาวต้องการ

เนื้อเพลง สิบหมื่น : มิตร ชัยบัญชา

“สิบหมื่น สิบหมื่น สิบหมื่น แหมยิ้มระรื่นคงกลืนลงคอ คุณพ่อครับผมแย่ คุณแม่ครับผมจน สิบหมื่นผมเหลือทน ไม่ขอดิ้นรนให้คุณขายลูกกิน”

สิบหมื่น หรือ หนึ่งแสนบาท เป็นค่าสินสอดที่คล้าวต้องหามาให้พ่อตาสุดโหดอย่างทองก้อน เพื่อที่จะได้ครองรักกับ​ “ทองกวาว”​ แต่เรื่องไม่ได้ง่ายอย่างคิดเพราะเงินหนึ่งแสนบาทในสมัยนั้นเป็นเงินจำนวนที่มีมูลค่าเยอะมาก

ทำให้คล้าวถึงกับร้องเพลงตัดพ้อว่าทองก้อนขายลูกสาวกินหรือยังไง เรียกค่าสินสอดสูงเหลือเกิน แม้เพลงจะถูกปล่อยออกมาใน พ.ศ.2513 แต่ก็ยังมีให้เห็นเรื่องการเรียกค่าสินสอดในปัจจุบัน หรือบางทีคู่บ่าวสาวก็ต้องกู้เงินแต่งงานนั่นเอง

สรุป

นี่คือ 7 เพลงลูกทุ่ง สะท้อนสังคม ที่ FINSTREET คัดสรรมาให้ทุกคนได้เห็นภาพชัดขึ้นว่าในเพลงลูกทุ่งที่ถูกเขียนจากชีวิตจริงมีเรื่องของความยากจน ปัญหาการเงิน และความรักเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเสมอ

จริงๆ ยังมีอีกหลายเพลงที่ไม่ได้ถูกหยิบยกมาพูดถึง แต่ที่น่าสงสัยคือ เหตุใดเพลงบางที่ถูกแต่งเมื่อหลายปีสิบก่อน ยังตรงกับชีวิตจริงของคนในยุคปัจจุบัน

เหตุใดผู้มีอำนาจทางธุรกิจถึงไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นได้ลืมตาอ้าปากได้อย่างตนเองบ้าง ถ้ายังเป็นแบบนี้อยู่ “รวยกระจุก จนกระจาย”​ คงยังไม่หายไปไหนแน่นอน

Droplead New

Let us know who you are