หุ้น IPO หรือที่ย่อมาจาก Initial Public Offering คือการที่ธุรกิจนำหุ้นบริษัทมาออกขายให้กับสาธารณชนได้จองซื้อเป็นครั้งแรก โดยยังไม่เคยหมุนเวียนซื้อขายในตลาดทุนมาก่อน
ช่วงต้นปีที่ผ่านมาคำว่า หุ้น IPO กลายเป็นกระแสอย่างมาก เช่น หุ้น OR หรือ “หุ้น TIDLOR” ที่กำลังจะเปิดให้จองกันอยู่ ซึ่งกระแสนี้ทำให้คนไทยตื่นตัวเรื่องการลงทุนมากขึ้น ส่งผลให้หลายคนได้มีประสบการณ์การจองซื้อหุ้น IPO หรือเริ่มเปิดพอร์ตหุ้นเป็นครั้งแรก
แล้วทำไมหลายๆ บริษัทต้องออกหุ้น IPO ด้วย และถ้าอยากจองซื้อหุ้น IPO จะต้องทำยังไงบ้าง วันนี้ FINSTREET จะมาเล่าให้ฟังกันครับ !
ทำไมบริษัทถึงต้องออกหุ้น IPO?
ก่อนที่บริษัทจะออกหุ้นมาขายให้คนปกติแบบเราๆนั้น หุ้นของธุรกิจมักจะเป็นของ บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เท่านั้นๆ เช่น ผู้ก่อตั้ง หรือบุคคลในครอบครัว ทำให้เงินทุนของบริษัทค่อนข้างจำกัด
ซึ่งเวลาที่บริษัทต้องการขยายธุรกิจ, มีโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ หรืออยากได้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่ม วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ การไปกู้เงินจากธนาคาร แต่แน่นอนครับว่า การกู้สินเชื่อต้องเสียดอกเบี้ยด้วย
การออกหุ้น IPO ขึ้นมาขายนักลงทุนทั่วไป เพื่อให้เข้ามาเป็นเจ้าของบริษัทร่วมกัน เลยเป็นอีกหนึ่ง “วิธีการระดมทุน” ที่บริษัทขนาดใหญ่หลายๆแห่งนิยมเลือกใช้
แต่การเสนอขายหุ้นของบริษัทเพื่อเตรียมเข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์ เป็นครั้งแรก ไม่ใช่ว่าใครนึกจะเข้าตลาดก็ทำได้
เพราะจำเป็นต้องทำเอกสารต่างๆ และผ่านการตรวจสอบพิจารณาจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อให้มีความโปร่งใสที่สุด เนื่องจากประชาชนจำเป็นต้องรู้ว่าบริษัทจะนำเงินของตัวเองไปทำอะไรบ้าง
บริษัทได้อะไรจากหุ้น IPO?
นอกจากการระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจแล้ว บริษัทสามารถนำเงินระดมทุนจากหุ้น IPO ไปชำระหนี้หรือเพิ่มสภาพคล่องบริษัทได้อีกด้วย ซึ่งการระดมทุนรูปแบบนี้จะเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวที่ปลอดภาระดอกเบี้ย
นักลงทุนได้อะไรจากหุ้น IPO?
อย่างแรกคือนักลงทุนจะถือว่าเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งจะมีสิทธิเข้าร่วมในการประชุมผู้ถือหุ้น และเมื่อกิจการมีผลประกอบการดีก็อาจได้รับ เงินปันผล รวมถึงอาจได้ ผลกำไร จากการซื้อขายหุ้นในตลาดรอง
หลักการในการออกหุ้น IPO
เมื่อเริ่มจดทะเบียนบริษัท ราคาต่อหุ้นของผู้ถือหุ้นบริษัทตอนเริ่มต้นจะเรียกว่า ราคาพาร์ (Par Value) ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ เช่น สมมุติว่าบริษัท A จดทะเบียน และมีเงินลงทุน 2,000,000 บาท โดยมีราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท แสดงว่า เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นจะมีหุ้น 2,000,000 หุ้น
ต่อมาบริษัท A มีผลประกอบการที่ดี จึงต้องการขยายสาขาเพิ่ม แต่ขาดเงินลงทุน จึงได้ระดมทุนโดยการออกหุ้น IPO มา 500,000 หุ้น มาให้นักลงทุนได้จับจองซื้อกัน
เนื่องจากบริษัททำกำไรดี และมีความเสี่ยงน้อยกว่าตอนก่อตั้ง บริษัท A จึงเสนอขายหุ้น IPO ให้กับนักลงทุนอยู่ที่หุ้นละ 10 บาท
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วบริษัทมักจะจ้าง บริษัทวาณิชธนกิจ มาทำหน้าที่ช่วยดูแลให้ โดยจะแนะนำตั้งแต่ วิธีการออกหุ้น ประเมินตั้งราคา และขั้นตอนการจัดจำหน่าย
เมื่อคำนวณออกมาแล้วจะได้ว่า การระดมทุนครั้งนี้บริษัท A จะได้เงินระดมทุนเพิ่มทั้งหมด 5,000,000 บาท
และเจ้าของเดิมจะมีมูลค่าหุ้นทั้งหมด 20 ล้านบาท (2,000,000 x 10) หรือเป็นเจ้าของบริษัทอยู่ 80% และนักลงทุนจะเป็นเจ้าของอีก 20% ซึ่งการซื้อขายทั้งหมดนี้จะเรียกกันว่า “ตลาดแรก”
หลังจากที่หุ้นของบริษัท A ถูกจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว เจ้าของหรือนักลงทุนก็สามารถนำหุ้นที่มีอยู่ไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในตลาดหลักทรัพย์ได้ ซึ่งการซื้อขายนี้จะเรียกว่า “ตลาดรอง” เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
หุ้น IPO จองซื้อกันยังไง?
หลังจากที่บริษัทมีหุ้น IPO ออกมา หุ้น IPO มักจะถูก จัดสรรไปให้หลายส่วน เช่น ผู้มีอุปการคุณ, ลูกค้า, บริษัทคู่ค้า, พนักงานบริษัท, ผู้ถือหุ้นเดิม หรือนักลงทุนสถาบัน เช่น บริษัทประกันหรือกองทุน
และส่วนที่เหลือจะเป็น การเสนอขายกับประชาชน (Public Offering) ซึ่งในส่วนนี้จะส่งให้ บริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์เพื่อจัดจำหน่าย โดยเราสามารถติดต่อซื้อกับมาร์เก็ตติ้ง หรือบางตัวอาจจองซื้อออนไลน์ได้ครับ
Small Lot First คืออะไร?
ช่วงนี้หลายคนคงได้ยินข่าวว่า เงินติดล้อเปิดให้จองหุ้น IPO โดยใช้ชื่อย่อว่า TIDLOR แบบ “Small Lot First” เลยอาจสงสัยว่า มันเป็นยังไงกันแน่ แล้วแบบนี้เราจะได้หุ้น IPO เท่าไหร่
การออกหุ้น IPO แบบ Small Lot First เป็นการจัดสรรหุ้นให้ นักลงทุนทุกราย เป็นรอบๆ โดยรอบแรกจะมีจำนวนการซื้อขั้นต่ำ หลังจากนั้นจะวนแจกตามจำนวนที่กำหนดจนกว่าจะหมด (คล้ายแจกไพ่รอบวง)
เช่น การจัดสรรหุ้นของเงินติดล้อ จะมีราคา IPO อยู่ที่ 34 – 36.5 บาท โดยรอบแรกจะมี กำหนดจองขั้นต่ำ 1,000 หุ้น เมื่อจัดสรรครบทุกคนในรอบแรกแล้ว จะได้รับจัดสรรเพิ่ม รอบละ 100 หุ้น ไปเรื่อยๆจนกว่าจะครบ หรือจนกว่าจะหมด
วิธีหาข้อมูลหุ้น IPO
หากอยากรู้ว่าจะบริษัทไหนออกหุ้น IPO บ้าง สามารถดูได้ที่ เว็บไซต์ของ SET เลยครับ ส่วนหากใครต้องการดูแบบ filing หรือหนังสือชี้ชวนตราสารทุน เพื่อประกอบการตัดสินใจ สามารถดูที่ เว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ได้เลยครับ
สรุป
หุ้น IPO เป็นหุ้นที่บริษัทออกมาเพื่อระดมทุนจากนักลงทุน หรือสาธารณชนเป็นครั้งแรก (ตลาดแรก) โดยนักลงทุนสามารถนำหุ้น IPO ที่มีไปซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์ (ตลาดรอง) ซึ่งหุ้น IPO จะถูกจัดสรรไปให้หลายๆส่วน และจองซื้อได้หลายช่องทาง แต่ก่อนที่จะซื้อหุ้น IPO ก็ควรศึกษาให้ดีก่อนว่า บริษัทที่เราจะลงทุนนั้นผลประกอบการเป็นอย่างไร และมีโอกาสเติบโตหรือไม่