Home / บทความทั้งหมด / [สรุปง่ายๆ] หนี้สินหมุนเวียน คืออะไร SME ต้องรู้ !

[สรุปง่ายๆ] หนี้สินหมุนเวียน คืออะไร SME ต้องรู้ !

หนี้สินหมุนเวียน

หนี้สินหมุนเวียน คือ หนี้สินของกิจการที่ต้องชำระคืนภายใน 1 ปี หรือภายในรอบระยะเวลาดำเนินการปกติของกิจการ ซึ่งไม่เกิน 12 เดือนนับจากวันที่ระบุในงบแสดงฐานะการเงิน เช่น เงินกู้ระยะสั้นจากธนาคาร, เจ้าหนี้การค้า หรือเงินกู้ระยะยาวที่จะต้องจ่ายภายใน 1 ปี โดยความสามารถในการชำระหนี้สินหมุนเวียน มักจะแปรผันกับสินทรัพย์หมุนเวียน

ปกติแล้วธุรกิจส่วนใหญ่จะไม่สามารถประกอบกิจการได้โดยใช้ส่วนทุนของเจ้าของเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องมีทุนจากการกู้ยืมด้วย โดยสินทรัพย์ของกิจการจะเท่ากับส่วนทุนของเจ้าของรวมกับหนี้สิน

ซึ่งหนี้สินของกิจการจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ หนี้สินหมุนเวียน และหนี้สินไม่หมุนเวียน โดยจะแบ่งตามระยะเวลาที่ต้องจ่ายหนี้คืน พูดง่ายๆคือหนี้หมุนเวียนจะต้อง “ชำระภายใน 1 ปี” ส่วนหนี้ไม่หมุนเวียน “กำหนดชำระ 1 ปีขึ้นไป”

หนี้สินหมุนเวียน มีอะไรบ้าง?

เราสามารถดูหนี้สินหมุนเวียนได้จาก งบการเงิน (Financial Statement) โดยจะอยู่ในส่วนของ งบแสดงฐานะการเงิน หรืองบดุล (Statement of Financial Position) ซึ่งหนี้สินหมุนเวียน (เรียงลำดับ) ที่เห็นกันบ่อยๆได้แก่

1.เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน

  • เงินเบิกเกินบัญชี (Bank overdraft หรือ O/D) คือสินเชื่อรูปแบบหนึ่งที่ธนาคารจะให้ผู้กู้จะสามารถเบิกเงินได้เกินกว่ายอดฝากตามวงเงินที่ได้ โดยนำไปใช้เพิ่มสภาพคล่องในแต่ละวัน สามารถเบิกเงินโดยใช้เช็คผ่านบัญชีกระแสรายวัน
  • เงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน (Short-term loans) คือ เงินกู้ยืมระยะสั้นที่มีกำหนดชำระภายในหนึ่งปี นอกจากหนี้ที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือบริการและเจ้าหนี้อื่น ในงบการเงินมักจะเขียนรวมกับเงินเบิกเกินบัญชี

2. ตั๋วเงินจ่าย

ตั๋วเงินจ่าย (Note Payable) เป็นหนังสือสัญญาที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรที่ระบุจำนวนเงินที่ต้องจ่ายในอนาคต ซึ่งอาจจะออกให้เจ้าหนี้การค้า ธนาคาร หรือผู้ให้กู้ยืมอื่นๆ

3. เจ้าหนี้การค้า

ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ เจ้าหนี้การค้าจะคล้ายๆกับการที่เรา ซื้อของมาแล้วยังไม่ได้จ่ายเงิน ซึ่งกิจการจะต้องชำระค่าสินค้าและบริการให้กับเจ้าหนี้การค้าตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ เจ้าหนี้การค้าก็ถือเป็นหนี้สินหมุนเวียนประเภทหนึ่ง

4. ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย

ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย (Accrued Expenses) เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในรอบบัญชีปัจจุบัน แต่ยังไม่ได้จ่ายเงินจนกว่าจะถึงรอบถัดไป เช่น ค่าน้ำค่าไฟ เงินเดือนค้างจ่ายจ่าย ดอกเบี้ยค้างจ่าย หรือภาษีเงินได้ค้างจ่าย เป็นต้น 

5. เงินปันผลค้างจ่าย

เงินปันผลค้างจ่าย (Accrued Dividend) เป็นการที่บริษัทประกาศว่าจะจ่ายเงินปันผล แต่ยังไม่ได้จ่ายจริงๆ ทำให้เงินปันผลค้างจ่ายกลายเป็นหนี้สินหมุนเวียน และผู้ถือหุ้นมีฐานะเป็นเจ้าหนี้

6. เงินกู้ยืมระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี

เป็น ส่วนของหนี้สินระยะยาว ที่จะถึงกำหนดการชำระคืนภายในหนึ่งปี เช่น กู้ธนาคารมา 800,000 บาท ระยะยาวจะผ่อนหมด 10 ปี โดยผ่อนปีละ 80,000 บาท เงินจำนวน 80,000 ที่ต้องชำระในรอบบัญชีจะเป็นหนี้สินหมุนเวียน

7. เงินมัดจำและเงินประกัน

เงินหรือหลักทรัพย์ที่กิจการได้รับจากลูกค้าหรือพนักงานเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะปฏิบัติตามสัญญา หรือประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อมีการปฏิบัติตามสัญญา จะต้องคืนเงินทั้งหมดหรือบางส่วนภายในไม่เกิน 1 ปี

8. รายได้รับล่วงหน้า

เป็นรายได้ที่กิจการได้รับล่วงหน้า ซึ่งส่วนที่ไม่ใช่รายได้ของรอบบัญชีปัจจุบัน จะถือว่าเป็นหนี้สินหมุนเวียน และจะเป็นรายได้ในรอบบัญชีถัดไป

หนี้สินหมุนเวียน บอกอะไรได้?

หนี้สินหมุนเวียนสามารถนำไปหาสภาพคล่องของกิจการได้ โดยนำไปคำนวณหาอัตราส่วนทางการเงินดังนี้ :

อัตราส่วนทุนหมุนเวียน

อัตราส่วนทุนหมุนเวียน (Current ratio) หรืออัตราส่วนสภาพคล่อง สามารถใช้วัดความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นของกิจการ โดยดูว่าสินทรัพย์หมุนเวียนเป็นกี่เท่าของหนี้สินหมุนเวียน

อัตราส่วนนี้จะบอกให้รู้ว่า หากกิจการชำระหนี้ระยะสั้นไปแล้วจะเหลือสินทรัพย์หมุนเวียนไว้หมุนจ่ายดำเนินงานหรือไม่ ยิ่งค่าสูงยิ่งแสดงว่ามีสภาพคล่องค่อนข้างมาก

*สินทรัพย์หมุนเวียน คือสินทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินได้ง่าย ใช้จนหมดได้ภายใน 1 ปี เช่น เงินสด, ลูกหนี้การค้า หรือ สินค่าคงเหลือ

สรุปง่ายๆคือ “จ่ายหนี้ของปีนี้ไปแล้ว ยังจะมีเงินหรือสินทรัพย์ไว้ใช้หมุนต่ออีกหรือเปล่า”

อัตราส่วนทุนหมุนเวียน = สินทรัพย์หมุนเวียน ÷ หนี้สินหมุนเวียน

อัตราส่วนทุนหมุนเวียน มากกว่า 1 แสดงว่ากิจการมีสภาพคล่องดี น้อยกว่า 1 แสดงว่ากิจการมีสภาพคล่องต่ำ แต่ถ้าสูงกว่า 1 มากๆก็อาจหมายถึงว่า กิจการใช้สินทรัพย์หมุนเวียนได้ไม่เกิดประโยชน์สูงสุด

อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว

อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick ratio) จะคล้ายกับอัตราส่วนทุนหมุนเวียน แต่จะบอกสภาพคล่องของกิจการได้ค่อนข้างดีกว่า เพราะ “หักสินค้าคงเหลือ” ที่สามารถเป็นเป็นเงินสดได้ยาก ออกจากสินทรัพย์หมุนเวียน

อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว = (สินทรัพย์หมุนเวียน – สินค้าคงเหลือ) ÷ หนี้สินหมุนเวียน

โดยการอัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็วไม่ควรน้อยกว่า 1 และสำหรับการบริหารอัตราส่วนนี้ไม่ควรมากเกินไป เพราะจะเหมือนกับการถือเงินสดมากเกินไป ควรนำไปลงทุนดีกว่า

สรุป

หนี้สินหมุนเวียนเป็นหนี้ที่ต้องชำระภายใน 1 ปี สามารถดูได้จากงบแสดงฐานะการเงินในงบการเงิน โดยจะมีหลายประเภทขึ้นอยู่กับกิจการ และสามารถนำไปคำนวณอัตราส่วนทุนหมุนเวียน และทุนหมุนเวียนเร็ว เพื่อวิเคราะห์กิจการได้

Droplead New

Let us know who you are