ความรักเป็นเรื่องที่ ไม่มีคำตอบตายตัว ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น อารมณ์, ประสบการณ์ และการตัดสินใจของคนสองคน ทำให้บางครั้งความรักก็เหมือนกับเศรษฐศาสตร์ และการลงทุน
วันนี้พี่โอกาสมีข้อคิดดีๆ 5 ข้อเกี่ยวกับเรื่องความรัก ที่มาจากหลักเศรษฐศาสตร์ มาฝากกันครับ !
1. การจำกัดอุปทาน
บางครั้งการทำตัวเองให้แตกต่าง และเล่นตัวบ้างจะช่วยเพิ่มมูลค่าของคุณในสายตาเขาได้ เพราะสิ่งที่ได้มายากนั้นมักจะดูมีราคาแพงขึ้น แต่ที่สำคัญเลยก็คือ สิ่งนั้นจะต้องมีความแตกต่างด้วย !
วิธีการนี้มาจากหลักการ จำกัดอุปทาน (Supply Restriction) ซึ่งการจำกัดอุปทานนั้นอาจทำให้ราคาตลาดสูงขึ้นได้ กรณีที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ การขายสินค้าแบบรุ่นจำนวนจำกัด หรือ ‘limited edition’
2. ต้นทุนจม, ค่าเสียโอกาส
ต้นทุนจม (Sunk Cost) คือ ต้นทุนที่เราจ่ายไปแล้วในอดีต และไม่ว่าเหตุการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็ไม่สามารถเรียกต้นทุนส่วนนั้นคืนมาได้
เช่น บางคนซื้อหุ้นมาในราคาสูง ต่อมาราคาหุ้นตกลง แต่ก็ยังไม่ยอมขาย จนขาดทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และทำให้เสียโอกาสในการซื้อหุ้นดีๆตัวอื่นไป
ซึ่งจริงๆแล้วเราไม่ควรเสียดายต้นทุนจมครับ ควรจะเสียดายสิ่งที่เรียกว่า “ค่าเสียโอกาส” มากกว่า
ค่าเสียโอกาส (Opportunity cost) คือ ต้นทุนที่เกิดขึ้นเมื่อเราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วทำให้เราไม่สามารถทำอีกสิ่งหนึ่งได้
ความรักก็เช่นกัน ถ้าเรามัวแต่จมอยู่กับรักเก่าๆ ไม่ยอมลืมสักที ก็อาจทำให้เสียโอกาสในการเจอคนดีๆในอนาคตได้
3. ความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลตลาด
ความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลตลาด หรือ Information symmetry คือ สภาวะที่ไม่มีใครที่มีข้อมูลต่างจากคนอื่น ทุกคนจะได้รับข้อมูลเท่าเทียมกัน
เช่น ในตลาดหุ้นจะมีการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะต่างๆอย่างสมบูรณ์ และเปิดเผยข้อมูลในเวลาพร้อมๆกัน ทำให้นักลงทุนจะได้รับข่าวสารพอๆกัน
ถ้าให้เทียบกันเรื่องความรักก็คือ ปัจจุบันเราแทบจะเล่นโซเชียลมีเดียกันทุกคน และทุกคนก็สามารถเข้าถึงคนดีๆได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าชอบใครแล้ว ให้รีบทำคะแนนเลยครับ เพราะคนที่ชอบเขาอาจไม่ได้มีแค่คุณคนเดียว !
4. ระดับความเสี่ยงที่รับได้ในการลงทุน
สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นลงทุน การพิจารณา ระดับความเสี่ยงที่รับได้ในการลงทุน (Risk Preference) เป็นสิ่งจำเป็น
เพราะจะทำให้คุณสามารถเลือกการลงทุนที่เหมาะกับ ความสามารถในการรับความเสี่ยง และระดับความเสี่ยงที่คุณต้องการได้
ความรักก็เช่นกัน การจะเริ่มความสัมพันธ์ใดๆขึ้นมานั้น ก่อนอื่นควรจะตอบตัวเองให้ได้ว่าความสัมพันธ์ที่คุณต้องการเป็นรูปแบบไหน
หากอยากได้ความสัมพันธ์ระยะยาว ควรจะเป็นความสัมพันธ์ที่ “มั่นคง” ความเสี่ยงน้อย แต่ถ้าอยากได้ความสัมพันธ์ที่ตื่นเต้น ระยะสั้น ก็ไม่ควรที่จะคบใครก่อน
5. ราคาสูงกว่ามูลค่าประเมิน, ค่าเสื่อมราคา
สินทรัพย์บางตัว ภายนอกอาจจะดูดี และมีราคาสูง แต่เมื่อลองวิเคราะห์ประเมินมูลค่ากันดีๆแล้ว อาจจะมีราคาที่สูงว่ามูลค่าที่แท้จริงก็ได้ (Overvalued)
และอย่าลืมว่าสินทรัพย์บางชนิดยังมี ค่าเสื่อมราคา (Depreciation) ซึ่งจะทำให้มูลค่าของสินทรัพย์นั้นลดลงอีกด้วย
ถ้าเราเปรียบสินทรัพย์ กับรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว การชอบหรือตัดสินใครจากภายนอก ก็อาจทำให้เกิดการ Overvalued ได้ รวมถึงหน้าตาเมื่อกาลเวลาผ่านไปมูลค่าก็จะเริ่มลดลง
เพราะฉะนั้นการรักใคร ไม่ควรตัดสินจากแค่หน้าตาเพียงอย่างเดียวครับ ควรมองที่นิสัย และทัศนคติประกอบกันด้วย เพราะสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่อยู่กับคุณไปตลอดระยะเวลาความสัมพันธ์…
อ้างอิงจาก : TIME