Home / บทความทั้งหมด / MRR, MOR และ MLR คืออะไร ต้องคิดดอกเบี้ยยังไง?

MRR, MOR และ MLR คืออะไร ต้องคิดดอกเบี้ยยังไง?

mrr คือ

MRR, MLR หรือ MOR คืออัตราดอกเบี้ยที่คนกู้บ้าน ผ่อนบ้าน คงจะคุ้นเคยกัน ซึ่งปัจจุบัน (เดือนเมษายน ปี 2564) แต่ละธนาคารที่ให้สินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรีไฟแนนซ์ เช่น ธอส., กรุงไทย, กรุงศรีอยุธยา, ออมสิน หรือกสิกรไทย ก็จะกำหนด rate ดอกเบี้ยไม่เท่ากัน

ดอกเบี้ยบ้านมีแบบไหนบ้าง?

เคยเป็นกันมั้ยครับ เดินเข้าไปสอบถามที่ธนาคาร หรือค้นหาเกี่ยวกับดอกเบี้ยผ่อนบ้านหรือรีไฟแนนซ์บ้าน แล้วไปเจอ คำแปลกๆที่เกี่ยวกับดอกเบี้ย เช่น ดอกเบี้ยคงที่, ดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี หรือดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งอาจบอกมาเป็น MRR, MOR หรือ MLR

ใครที่เจอแบบนี้แล้วงงก็ไม่ต้องตกใจนะครับ ก่อนอื่นแนะนำให้แยกก่อนว่า ดอกเบี้ยที่คุณดูอยู่นั้นเป็น ดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) หรือ ดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate)

ดอกเบี้ยคงที่ vs ดอกเบี้ยลอยตัว

เวลาอ่านตารางดอกเบี้ยที่ธนาคารให้มา ส่วนใหญ่มักจะบอก ดอกเบี้ยปีที่ 1-3 ,ดอกเบี้ยหลังจากนั้น และมีช่องอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี โดยดอกเบี้ยอาจจะแยกเป็นกรณีตามวงเงินกู้ หรือตามการทำประกัน

สำหรับ ดอกเบี้ยคงที่ จะบอกมาเป็นรูปแบบเปอร์เซ็นต์ไปเลย เช่น 1.50% ต่อปี ส่วน ดอกเบี้ยลอยตัว จะอยู่ในรูป MRR หรือ MLR เช่น MRR – 1.60% ซึ่งในแต่ละปีดอกเบี้ยประเภทนี้ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ซึ่งอาจจะขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจในขณะนั้น และดอกเบี้ยนโยบาย

ดอกเบี้ย MRR, MLR, MOR มันต่างกันยังไง?

ธนาคารแต่ละเจ้าจะกำหนดอัตราดอกเบี้ย MRR, MLR หรือ MOR ไม่เหมือนกัน การคิดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งดอกเบี้ยทั้ง 3 ประเภทจะมีจุดร่วมที่เหมือนกันคือ เป็นดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจาก “ลูกค้าชั้นดี”

อัตราดอกเบี้ย MRR คืออะไร?

mrr ปัจจุบัน

ดอกเบี้ย MRR ย่อมาจาก Minimum Retail Rate เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารใช้ในการปล่อยสินเชื่อให้ “ลูกค้ารายย่อยชั้นดี”

MRR ก็ถือเป็นวิธีการคิดดอกเบี้ยวิธีหนึ่งของธนาคาร ซึ่งสำหรับลูกค้าทั่วไปแบบเราๆ เช่น พนักงานบริษัท, ข้าราชการ หรืออาชีพอิสระ ก็มักจะเจออัตราดอกเบี้ย MRR ใน สินเชื่อต่างๆที่เกี่ยวกับบ้าน ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อกู้ซื้อบ้าน, รีไฟแนนซ์บ้าน หรือบ้านแลกเงิน

นอกจากจะพบในการขอสินเชื่อเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยเเล้ว เราก็อาจพบการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบ MRR ในสินเชื่ออื่นๆได้ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต ได้ด้วย ซึ่ง ส่วนใหญ่ MRR มักจะสูงกว่า MLR และ MOR

อัตราดอกเบี้ย MRR ของแต่ละธนาคารไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการต้นทุนของธนาคารนั่นเอง โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะผู้ควบคุมดูแล อัตราดอกเบี้ย MRR ของแต่ละธนาคาร ให้เป็นจริงและเหมาะสมมากที่สุด

อัตราดอกเบี้ย MLR คืออะไร?

ดอกเบี้ย MRR ย่อมาจาก Minimum Loan Rate เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารใช้ในการปล่อยสินเชื่อให้ “ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี” ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการกู้ระยะยาว ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันมากเพียงพอ เช่น พวกสินเชื่อบ้าน

ดอกเบี้ย MLR ถือว่าเป็น “ดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุด” ถ้าเทียบกับ MRR และ MOR ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ย MLR จะเป็นดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี แต่บางครั้งธนาคารก็อาจเสนอดอกเบี้ย MLR ให้กับลูกค้ารายย่อยได้เช่นกัน หากเป็นสินเชื่อระยะยาวที่กำหนดระยะเวลาแน่นอน

อัตราดอกเบี้ย MOR คืออะไร?

ดอกเบี้ย MOR ย่อมาจาก Minimum Overdraft Rate เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภท “วงเงินเบิกเกินบัญชี” หรือที่หลายๆคนคุ้นเคยกันว่า O/D ที่จะเรียกเก็บจาก “ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี” ซึ่งดอกเบี้ย MOR มักจะใช้กับพวกสินเชื่อที่เป็นเงินทุนหมุนเวียน

คิดดอกเบี้ยบ้านด้วย อัตราดอกเบี้ย MRR

ส่วนใหญ่ ดอกเบี้ยบ้านช่วง 3 – 5 ปีแรก มักจะมีทั้งดอกเบี้ยคงที่และดอกเบี้ยลอยตัวแบบ MRR ผสมกันไปขึ้นอยู่กับธนาคาร บางโปรโมชั่นธนาคารดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีก็มี แต่หลังจาก 3-5 ปีไปแล้วจะเป็น ดอกเบี้ยลอยตัวที่คิดจาก MRR แทบทั้งหมด

ตรงที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว ธนาคารมักจะให้อัตราดอกเบี้ยมาเป็น MRR – ตัวเลข ซึ่งอาจทำให้หลายคนงงว่ามันเท่าไหร่กันแน่ เช่น MRR – 1.25 %

mrr เท่าไหร่

วิธีคิดดอกเบี้ยแบบลอยตัวก็คือ ให้เข้าไปเว็บไซต์ธนาคารนั้นๆ แล้วเข้าไปดูอัตราดอกเบี้ย MRR แล้ว หรือถ้าอยากเปรียบเทียบหลายที่ก็อาจเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้

ซึ่งหลังจากได้ดอกเบี้ย MRR มาแล้ว ก็นำไปลบกับตัวเลขที่ให้มาจะได้เป็นดอกเบี้ยในปีนั้นๆ เช่น ดอกเบี้ยปีที่ 2 ของธนาคาร A แบบไม่ทำประกัน MRTA เท่ากับ MRR – 2.6%

หากดอกเบี้ย MRR ของธนาคารเท่ากับ 5.90% จะได้ว่าดอกเบี้ยปีที่สองของธนาคาร A คาดว่าน่าจะได้ 3.3% ต่อปี แต่ขึ้นชื่อว่าดอกเบี้ยลอยตัวแล้ว ดอกเบี้ย MRR ก็มีโอกาสเปลี่ยนขึ้นลงได้ทุกเมื่อ ซึ่งโดยปกติแล้วส่วนใหญ่จะเปลี่ยนทุกไตรมาส

และนอกจากนี้การที่ดอกเบี้ย MRR ของแต่ละธนาคารสูงหรือต่ำ ไม่สามารถทำให้ตัดสินได้ว่า “ดอกเบี้ยบ้านธนาคารไหนถูกกว่า” หากอยากรู้ดอกเบี้ยปีนั้นๆจะต้องเอา MRR ไปลบกับตัวเลขในตารางดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารก่อน

อัตราดอกเบี้ย MRR เดือนเมษายน 64 (ปัจจุบัน)

ธนาคารดอกเบี้ย MRR ปัจจุบัน
กรุงเทพ5.750 %
กสิกรไทย5.970 %
ไทยพาณิชย์5.995 %
กรุงศรีอยุธยา6.050 %
ธนาคารอาคารสงเคราะห์6.150 %
กรุงไทย6.220 %
ธนาคารออมสิน6.245 %
ทหารไทย6.280 %
เกียรตินาคิน6.650 %
ยูโอบี7.350 %
ซีไอเอ็มบี ไทย7.350 %

สรุป

ดอกเบี้ย MRR, MLR หรือ MOR เป็นวิธีการคิดดอกเบี้ยขั้นต่ำรูปแบบหนึ่ง โดยใช้ลูกค้าชั้นดีเป็นเกณฑ์ ซึ่งแต่ละธนาคารจะไม่เท่ากัน และมักจะเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ส่วนสำหรับคนที่ผ่อนบ้านหรือรีไฟแนนซ์บ้าน เราจะดูอัตราดอกเบี้ย MRR เป็นหลัก

Droplead New

Let us know who you are