หลายคนพอได้ยินคำว่า “งบการเงิน” คงจะนึกถึงงบการเงินบริษัท หรือเอกสารบัญชีที่ทุกบริษัทต้องทำ เพื่อให้รู้สถานะการเงินในการบริหารกิจการ แต่รู้หรือไม่คุณก็สามารถทำ งบการเงินส่วนบุคคล เพื่อวางแผนการเงินของตัวเองได้ !
งบการเงินส่วนบุคคล คืออะไร?
งบการเงินส่วนบุคคล คือ รายการบันทึกที่แสดงข้อมูล หรือสุขภาพการเงินของบุคคลนั้นๆ เช่น สินทรัพย์ หนี้สิน รายได้ ค่าใช้จ่าย
ซึ่งงบการเงินส่วนบุคคลสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ และวางแผนการเงิน เพื่อให้รู้สถานะการเงินที่แท้จริงของตัวเองได้ โดยจะแบ่งได้เป็น 2 ส่วนได้แก่ งบดุลส่วนบุคคล กับ งบกระแสเงินสด
ก่อนอื่นสำหรับใครที่อยากเริ่มทำงบการเงินส่วนบุคคลเลย สามารถดาวน์โหลดไปทำกันได้ที่นี่เลย >> งบการเงินส่วนบุคคล
งบการเงินส่วนบุคคล ต้องเขียนอะไรบ้าง?
1. งบดุลส่วนบุคคล
งบดุลส่วนบุคคล เป็นรายการที่ใช้แสดงความมั่งคั่งของคุณ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น งบดุลส่วนบุคคลของวันที่ 18 ก.พ. ซึ่งงบดุลส่วนบุคคลจะใช้บอก “สภาพการเงินปัจจุบัน” โดยจะประกอบด้วยสินทรัพย์ หนี้สิน และความมั่งคั่ง
2. งบกระแสเงินสด
เป็นรายงานสรุป รายได้และค่าใช้จ่ายของบุคคล ในช่วงเวลานั้นๆ เช่น 1 สัปดาห์ 1 เดือน 1 ปี ซึ่งเป็นรายการที่แสดงแหล่งที่มารายได้ และรายจ่าย รวมถึงสามารถสะท้อนพฤติกรรมในการใช้จ่ายของคุณ เพื่อนำไปปรับปรุงได้
งบดุลส่วนบุคคล
การทำงบดุลส่วนบุคคล จะประกอบด้วย สินทรัพย์ หนี้สิน และความมั่งคั่ง โดยสินทรัพย์จะเท่ากับ หนี้สินรวมกับความมั่งคั่ง
สินทรัพย์ = หนี้สิน + ความมั่งคั่ง
1. สินทรัพย์
ด้านสินทรัพย์ในงบดุลส่วนบุคคลจะแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ :
- สินทรัพย์สภาพคล่อง เป็นทรัพย์เพื่อใช้จ่ายสำหรับดำรงชีวิต หรือมีไว้ใช้สำรอง เช่น เงินสด เงินฝาก เงินลงทุนระยะสั้น
- สินทรัพย์ลงทุน เป็นทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนเป็นตัวเงิน เช่น กองทุนรวม พันธบัตร ที่ดิน หุ้น นำออกมาใช้ได้ค่อนข้างยาก
- สินทรัพย์ใช้ส่วนตัว เป็นทรัพย์เพื่อการใช้งานในชีวิตประจำวะน หรือข้าวของส่วนตัวที่มีมูลค่า เช่น คอมพิวเตอร์ บ้าน รถยนต์ เครื่องประดับ
2. หนี้สิน
ส่วนด้านหนี้สินจะมีทั้งหมด 2 ประเภท ได้แก่ :
- หนี้สินระยะสั้น เป็นหนี้สินที่ต้องชำระภายใน 1 ปี เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล หรือส่วนของหนี้ระยะยาวที่ต้องจ่ายในปีนี้ เรียกง่ายๆว่าเป็น “หนี้ที่ต้องรีบคืน”
- หนี้ระยะยาว เป็นหนี้สินที่ต้องใช้เวลาผ่อนชำระเกินกว่า 1 ปี เช่น หนี้ผ่อนบ้าน หนี้รถ
หนี้ระยะสั้นมีอีกชื่อว่า “หนี้สินหมุนเวียน” อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้ >> หนี้สินหมุนเวียน คืออะไร SME ต้องรู้ !
3. ความมั่งคั่ง
ส่วนความมั่งคั่งจะคิดจากสินทรัพย์ทั้งหมดลบด้วยหนี้สินทั้งหมด ก็จะสามารถบอกได้ว่า เรามี “ความมั่งคั่งสุทธิ” เท่าไหร่ ยิ่งความมั่งคั่งสุทธิมากก็จะยิ่งดี แต่ถ้าติดลบ แสดงว่าเป็นหนี้มากกว่าสินทรัพย์ที่มี (อันนี้น่ากลัว)
ตัวอย่างงบดุลส่วนบุคคล
นอกจากรูปแบบนี้ คุณสามารถเขียนเพิ่มเติมเป็นเปอร์เซ็นต์ได้นะครับ ว่าสินทรัพย์แต่ละตัวนับเป็นกี่เปอร์เซ็นของสินทรัพย์ทั้งหมด และหนี้แต่ละตัวนับเป็นกี่เปอร์เซ็นของหนี้ทั้งหมด เพื่อที่จะได้รู้ว่า เรามีตรงไหนมากเกินไป และมีตรงไหนน้อยเกินไปจะได้จัดการการเงินถูก
งบกระแสเงินสด
งบกระแสเงินสด เอาไว้แสดงเงินเข้าเงินออก และพฤติกรรมการเงินของคุณ ซึ่งจะคล้ายๆกับสมุดรายรับรายจ่าย โดยจะประกอบด้วย กระแสเงินรับ กระแสเงินสดจ่าย และกระแสเงินสดสุทธิ
กระแสเงินสดรับ – กระแสเงินสดรับ = กระแสเงินสดสุทธิ
1. กระแสเงินสดรับ
กระแสเงินสดรับ จะเป็นเงินที่เราได้รับในช่วงเวลานั้น เช่น รายได้จากการทำงาน เงินเดือน กำไร ค่าเช่า ค่าล่วงเวลา
2. กระแสเงินสดจ่าย
กระแสเงินสดจ่าย จะประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ :
- กระแสเงินสดจ่าย เพื่อการออมและลงทุน เช่น เงินออม ซื้อกองทุน ฝากประจำ
- กระแสเงินสดจ่ายคงที่ เป็นรายจ่ายที่ต้องจ่ายเท่าๆกันในทุกๆช่วง เช่น ค่าผ่อนของ ค่างวดรถ ประกันสังคม
- กระแสเงินสดจ่ายผันแปร เป็นรายจ่ายที่ไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลา เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง โทรศัพท์
สุดท้ายเมื่อเรานำกระแสเงินสดจ่ายรวมทั้งหมดมาลบจากกระแสเงินสดรับ เราจะได้ “กระแสเงินสดสุทธิ”
อัตราส่วนการเงินส่วนบุคคล
นอกจากงบการเงินส่วนบุคคลจะใช้แสดงสถานะการเงิน และการใช้จ่ายแล้ว ข้อมูลแต่ละตัวในงบการเงินส่วนบุคคลสามารถนำมาคำนวณเป็น อัตราส่วนการเงินส่วนบุคคล เพื่อบอก “สุขภาพการเงิน” ของคุณได้ เรามาเริ่มตรวจสุขภาพการเงินกันเลยครับ !
1. ตรวจสุขภาพ “รายได้”
- แหล่งรายได้ ใช้วัดว่ารายได้เรามาจากแหล่งไหนบ้าง โดยยิ่งมีแหล่งรายได้มากก็จะยิ่งมีรายรับเพิ่มขึ้น และสามารถกระจายความเสี่ยงได้ดี (ยิ่งเยอะยิ่งดี)
- อัตราส่วนความอยู่รอด (Survival Ratio) คำนวณจากรายได้หารด้วยค่าใช้จ่าย โดยถ้ามากกว่า 1 แปลว่า “อยู่รอดได้” และยิ่งมากยิ่งดี เพราะนั่นหมายความว่า คุณมีเงินเหลือเก็บ
- อัตราส่วนความมั่งคั่ง (Wealth Ratio) คำนวณได้จากรายได้ที่มาจากสินทรัพย์โดยไม่ต้องทำงาน (passive income) หารด้วยค่าใช้จ่าย หากผลลัพธ์มากกว่า 1 แสดงว่าคุณมีอิสรภาพทางการเงินแล้ว แต่หากน้อยกว่า 1 ก็พยายามเพิ่ม passive income มากขึ้น
2. ตรวจสุขภาพ “สภาพคล่อง”
- อัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio) พูดง่ายๆคือสินทรัพย์ตอนนี้สามารถจ่ายหนี้ระยะสั้นได้หรือเปล่า สามารถคำนวณได้โดยนำ สินทรัพย์สภาพคล่อง มาหารด้วยหนี้ระยะสั้น หากได้ค่ามากกว่า 1 แสดงว่ามีสภาพคล่องอยู่ พอหมุนเงินได้ แต่ถ้าน้อยกว่านั้นก็อาจไม่มีเงินไปจ่ายหนี้
- อัตราส่วนสภาพคล่องพื้นฐาน (Basic Liquidity Ratio) จะแสดงได้ว่าตอนนี้คุณมีเงินสำหรับใช้จ่ายอยู่ไปได้อีกกี่เดือน สามารถคำนวณได้โดยนำ สินทรัพย์สภาพคล่อง มาหารด้วย ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน ซึ่งค่าที่ได้ควรมากกว่า 3-6 หรือหมายความว่าควรมีเงินเก็บประมาณ 3-6 เดือน
3. ตรวจสุขภาพ “หนี้สิน”
- อัตรส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ (Debt to Total Asset Ratio) คำนวณโดยการนำหนี้สินไปหารด้วยสินทรัพย์ ค่าที่ได้ ไม่ควรมากกว่า 0.5 ซึ่งหมายความว่าคนเราไม่ควรมีหนี้สินเกิน 50% ของสินทรัพย์ที่มี
- อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Leverage Ratio) เป็นอัตราส่วนที่ดูว่าเงินเดือนเท่านี้ มีหนี้เป็นเท่าไหร่ โดยอัตราส่วนนี้ไม่ควรมีค่าเกิน 0.4 ซึ่งหมายความว่า ไม่ควรมีหนี้เกิน 40% ของรายได้
4. ตรวจสุขภาพ “การออม”
- อัตราส่วนการออม (Saving Ratio) คำนวณโดยนำเงินออมไปรวมกับเงินลงทุน แล้วหารด้วยรายได้ ค่าที่ได้ควรมากกว่า 1 เพราะแต่ละเดือนควรมีเงินออมหรือลงทุนประมาณ 10% ของรายได้
- อัตราส่วนการลงทุน สินทรัพย์ที่มาจากการลงทุน เช่น หุ้น กองทุน ควรมีกว่า 50% ของความมั่งคั่งสุทธิ เพื่อที่เงินของคุณจะได้มีผลตอบแทนงอกเงยไว้ใช้ในยามเกษียณ
สรุป
งบการเงินส่วนบุคคล เป็นรายงานที่แสดงข้อมูลการเงินของคุณ โดยจะประกอบด้วยงบดุลส่วนบุคคล และงบกระแสเงินสด รวมถึงข้อมูลในงบการเงินส่วนบุคคลสามารถนำไปวิเคราะห์สุขภาพการเงินได้โดยใช้อัตราส่วนการเงินส่วนบุคคล