สำหรับพนักงานบริษัทอย่างเราๆ เคยสงสัยกันไหมครับว่า “ถ้าเกษียณแล้ว จะได้เงินอะไรบ้าง” และเงินที่เราได้นั้นมัน “พอจริงหรือ” วันนี้ พี่โอกาส จะพาคุณไปหาคำตอบกันครับ !
เหตุผลที่พี่โอกาสอยากนำเสนอเรื่องนี้ก็เพราะ ปัจจุบันประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีอัตราส่วนประชากรผู้สูงอายุถึง 16% หรือประมาณ 10 กว่าล้านคน
แถมคนวัยนี้ ( 60-69 ปี) ก็เป็นหนี้เฉลี่ยสูงถึง 453,438 บาทต่อคน ซึ่งพี่โอกาสเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่เป็นหนี้ก็เพราะ เงินไม่พอใช้ ตอนเกษียณ เพราะฉะนั้นการเตรียมตัวเป็นสิ่งที่ดีครับ
สำหรับพนักงานเอกชนที่ไม่ได้จ่ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือประกันต่างๆ ส่วนใหญ่จะมีเงินสำหรับยังชีพหลักๆจาก 3 แหล่ง ได้แก่ :
ไปดูกันเลยว่าแต่ละแบบจะได้เท่าไหร่ และมีรายละเอียดอะไรบ้าง !
1. เงินชดเชยตามอายุงาน
การเกษียณอายุของลูกจ้าง ถือว่าเป็นการ เลิกจ้าง ครับ เพราะฉะนั้นถ้าเกษียณเราควรจะได้เงินชดเชยจากนายจ้างตามอัตราที่กฎหมายกำหนด (มาตรา 118 วรรค 2)
สำหรับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ได้มีบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการเกษียณอายุ และการจ่ายค่าชดเชยเรื่องการเกษียณอายุการทำงานเอาไว้ ดังนี้
- กรณีกำหนดการเกษียณอายุ “ก่อนครบ 60 ปีบริบูรณ์” ให้ถือว่าการเกษียณอายุไปเป็นตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือสัญญาจ้าง หรือข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
- กรณีกำหนดการเกษียณอายุ “เกินกว่า 60 ปีบริบูรณ์ หรือไม่ได้มีการกำหนด” ลูกจ้างมีสิทธิขอเกษียณอายุได้เมื่อมีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป และให้มีผลเมื่อครบ 30 วันหลังการแสดงเจตนา
ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย ตามข้อมูลในตารางดังนี้
ระยะเวลาที่ทำงานติดต่อกัน | เงินชดเชย (ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย) |
120 วัน – 1 ปี | 30 วัน |
1 ปี – 3 ปี | 90 วัน |
3 ปี – 6 ปี | 180 วัน |
6 ปี – 10 ปี | 240 วัน |
10 ปี – 20 ปี | 300 วัน |
20 ปีขึ้นไป | 400 วัน |
เช่น ถ้าคุณทำงานมา 12 ปี เงินเดือนสุดท้ายเท่ากับ 40,000 บาท เมื่อเกษียณจะได้เงินชดเชย 300 วัน หรือประมาณ 4 แสนบาท
2. เงินบำนาญประกันสังคม
สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่จ่ายประกันสังคม คุณสามารถยื่นขอรับเงินบำนาญจากกองทุนประกันสังคมได้ตลอดชีวิต โดยมีเงื่อนไขคือ
- ต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไป
- ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนไม่น้อยกว่า 180 เดือน (15 ปี)
ซึ่งเงินบำนาญที่ได้ต่อเดือนจะเท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย รวมกับ 1.5% ที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนปีที่เพิ่มขึ้นจาก 15 ปี
สูตรคำนวณ :
เงินบำนาญต่อเดือน = ค่าจ้างเฉลี่ย* x [ 20 + (1.5 x (จำนวนปีที่สมทบ – 15))] / 100
*ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ฐานคำนวณไม่เกิน 15,000 บาท
สำหรับใครที่เงินเดือน มากกว่า 15,000 บาท ไม่ต้องคำนวณให้ยุ่งยาก สามารถดูตารางนี้ได้เลย!
ระยะเวลาจ่ายเงินสมทบ | เงินบำนาญต่อเดือน |
15 ปี | 3,000 บาท |
20 ปี | 4,125 บาท |
25 ปี | 5,250 บาท |
30 ปี | 6,375 บาท |
35 ปี | 7,500 บาท |
3. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
เมื่ออายุ 60 ปี คุณสามารถไปลงทะเบียนเพื่อรับเบี้ยยังชีพได้ที่ สำนักงานเขต กทม., อบต. หรือเทศบาล โดยการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุในปัจจุบัน จะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนตอ่เนื่องไปตลอดชีวิต ซึ่งอัตราที่ได้จะเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุดังนี้
อายุ | เบี้ยยังชีพต่อเดือน |
60 – 69 ปี | 600 บาท |
70 – 79 ปี | 700 บาท |
80 – 89 ปี | 800 บาท |
90 ปีขึ้นไป | 1,000 บาท |
ลองประเมินดูนะครับว่า เงินที่ได้เบิกได้ทั้งหมดจะพอกับค่าใช้จ่ายตอนเกษียณหรือไม่ ถ้าคิดว่าไม่พอพี่โอกาสแนะนำให้เริ่ม “วางแผนเกษียณ” ได้แล้วนะครับ !
ด้วยความปรารถนาดีจาก FINSTREET