ทำงานหาเงินมาตั้งนาน แต่ดันมาเสียเงินเหยียบล้านเพราะความสะเพร่า ลืมยื่นภาษีให้กรมสรรพากร จนโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง กลายเป็นเหมือนฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนไปอีกนาน สำหรับมนุษย์เงินเดือน ผู้ประกอบการ หรือ เจ้าของธุรกิจสส่วนตัว การยื่นภาษีเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม วันนี้พี่โอกาสจะพาทุกคนไปรู้จักว่า ภาษีย้อนหลัง คืออะไร หากลืมจ่ายแล้ว มีค่าปรับไหม มีอายุความกี่ปี หรือถ้าโดนเรียกเก็บแล้ว จะมีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง
ภาษีย้อนหลัง คืออะไร ทำไมเป็นฝันร้ายของใครหลายๆ คน
ภาษีย้อนหลัง เกิดขึ้นในกระบวนการตรวจสอบการยื่นภาษี เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่ง 3 หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ ได้แก่ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต สำหรับชาวมนุษย์เงินเดือนหรือผู้ประกอบการ มักจะถูกตรวจสอบโดยกรมสรรพากร เมื่อกรมสรรพากรตรวจสอบแล้วพบว่าบุคคลนั้นไม่ยื่นภาษี จ่ายภาษีไม่ถูกต้อง รายได้หรืองบการเงินผิดปกติ ก็จะถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังนั่นเอง
กรมสรรพากรมีวิธีตรวจสอบ ภาษีย้อนหลัง ยังไงบ้าง
สำหรับใครที่ไม่อยากยื่นภาษี หรือมีความคิดที่จะเลี่ยงภาษี เพราะคิดว่าเสียไปตั้งแพง จะได้คืนเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ก็ขอให้คิดใหม่นะครับ เพราะในปัจจุบันกรมสรรพากรมีวิธีตรวจสอบภาษีย้อนหลังหลายทาง ซึ่งบอกเลยว่าเขาสามารถตามตัวเราได้ไม่ยากเลย จะมีวิธีอะไรบ้างนั้น พี่โอกาสจะพาทุกคนไปหาคำตอบเองครับ
ตรวจสอบภาษีย้อนหลังจาก ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) ที่แต่ละบริษัทมีหน้าที่ต้องส่งเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายของลูกจ้างให้กับกรมสรรพากร พร้อมกับข้อมูลอื่นๆ เช่น ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน และจำนวนเงินที่ได้รับในแต่ละเดือน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกบันทึกในฐานข้อมูลของกรมสรรพากร ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ข้อมูลชุดนี้ตรวจสอบได้ว่าบุคคลนั้นๆ เข้าข่ายเสียภาษี แต่ไม่ยอมชำระภาษีหรือเปล่า และจะส่งหนังสือมาให้ชี้แจงสาเหตุต่อไป
ขอข้อมูลจากธนาคาร สถาบันการเงิน
หลายคนอาจไม่ทราบว่า ธนาคาร สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างเช่น TrueMoney หรือ Rabbit LINE Pay มีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมลักษณะเฉพาะให้กับกรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบว่าเรามีรายได้ที่เข้าข่ายถูกเรียกเก็บภาษีหรือไม่ โดยรายละเอียดของธุรกรรมลักษณะเฉพาะ มีดังนี้ครับ
- การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีของสถาบันการเงินเดียวกัน ตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไปใน 1 ปี
- การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีของสถาบันการเงินเดียวกัน ตั้งแต่ 400 ครั้งขึ้นไปใน 1 ปี โดยมียอดรวมของธุรกรรมทั้งหมด 2,000,000 บาทขึ้นไป
เช็คภาษีย้อนหลังจาก Big Data Analytic
กรมสรรพากรจะทำ Web Scraping หรือการดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ มาใช้ในการพิจารณาว่าใครเป็นผู้เสียภาษีกลุ่มดี หรือผู้เสียภาษีที่สุ่มเสี่ยง ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้วิเคราะห์นั้น ก็มาจากที่กรมสรรพากรบันทึกไว้เองครับ
ประชาชนเข้ามาร้องเรียน เมื่อพบเห็นผู้เลี่ยงภาษี
สำหรับใครที่พบเห็นความผิดปกติว่ามีคนจงใจจะเลี่ยงภาษี ยื่นภาษีไม่ครบจำนวน หรือแจ้งข้อมูลผู้เสียภาษีที่ยังไม่อยู่ในระบบภาษี ก็สามารถเข้าไปร้องเรียนที่ระบบแจ้งเบาะแสหลีกเลี่ยงภาษีของกรมสรรพากรได้ครับ
เจ้าหน้าที่สุ่มตรวจเช็คภาษีย้อนหลังด้วยตัวเอง
วิธีการตรวจสอบภาษีย้อนหลังอีกอย่างหนึ่งก็คือ เจ้าหน้าที่จะไปสำรวจพื้นที่ที่ตนดูแลด้วยตัวเอง เช่น ร้านอาหารข้างทาง ร้านค้าต่างๆ โดยเช็คจากราคาสินค้า จำนวนลูกค้า หรือร้านค้าออนไลน์ ก็สามารถตรวจสอบจากใบเสร็จ เพื่อประเมินรายได้ที่คาดว่าจะได้รับคร่าวๆ ซึ่งลักษณะร้านที่เสี่ยงถูกเรียกภาษีย้อนหลังก็จะเป็นร้านที่รับแต่เงินสด ไม่รับเงินโอนเลย หรือร้านที่ไม่เคยทำสต๊อกสินค้า บัญชีรายรับรายจ่ายเลย
ภาษีย้อนหลัง บุคคลธรรมดา นิติบุคคล มีอายุความกี่ปี
สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะมีอายุความตามหมายเรียก ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นแบบภาษี แต่หากกรมสรรพากรตรวจสอบแล้วว่า บุคคลนั้นมีเจตนาหรือจงใจหลีกเลี่ยงภาษีจริง ก็สามารถขยายอายุความเรียกเก็บภาษีย้อนหลังไปได้ถึง 5 ปีครับ
เสียภาษีย้อนหลังกี่บาท มีค่าปรับเพิ่มไหม ต้องจ่ายเท่าไหร่
หลายครั้งพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หรือร้านข้างทางเองก็ไม่ได้ตั้งใจจะเลี่ยงภาษี แต่ดันลืมหรือกรอกข้อมูลไม่ละเอียดพอ ทำให้ถูกสรรพากรสงสัยและเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจนได้ แต่รู้ไหมครับว่า ไม่ได้มีแค่ค่าภาษีที่เราต้องชำระย้อนหลัง แต่มีค่าปรับและเงินเพิ่มที่ต้องจ่ายด้วย บางคนที่ไม่ทราบตรงนี้มาก่อนอาจจะตกใจว่าทำไมต้องเสียเงินไปเกือบหมื่นหรือแสนเลยทีเดียว โดยจำนวนเงินจะแตกต่างกันไปตามกรณีต่างๆ ครับ
ยื่นภาษีทันกำหนดเวลา แต่เสียภาษีไม่ครบ
- จ่ายค่าปรับ 0.5 เท่า หรือ 1 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
- จ่ายเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย นับตั้งแต่วันสิ้นสุดยื่นแบบภาษีไปจนถึงวันที่ชำระภาษีครบ
ลืมยื่นแบบภาษีภายในกำหนดเวลา และมีภาษีที่ต้องจ่าย
- จ่ายค่าปรับ 1 เท่า หรือ 2 เท่า ของภาษีที่ต้องจ่าย
- จ่ายเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย นับตั้งแต่วันสิ้นสุดยื่นแบบภาษีไปจนถึงวันที่ชำระภาษีครบ
- มีโทษปรับทางอาญาสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท
มีเจตนาเลี่ยงภาษี
- จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- จ่ายค่าปรับ 2 เท่า ของภาษีที่ต้องจ่าย
- จ่ายเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย นับตั้งแต่วันสิ้นสุดยื่นแบบภาษีไปจนถึงวันที่ชำระภาษีครบ
จงใจแจ้งข้อมูลเท็จ แสดงหลักฐานเท็จ เพื่อหนีภาษี
- มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน – 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 -200,000 บาท
- จ่ายค่าปรับ 2 เท่า ของภาษีที่ต้องจ่าย
- จ่ายเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย นับตั้งแต่วันสิ้นสุดยื่นแบบภาษีไปจนถึงวันที่ชำระภาษีครบ
โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากกรมสรรพากร ต้องรับมือยังไง
เพื่อนๆ คนไหนที่ถูกเรียกภาษีย้อนหลังอาจกำลังตกใจ ไม่รู้ต้องทำไงต่อ ก่อนอื่นต้องสติก่อนครับ พี่โอกาสได้สรุปวิธีรับมือมาให้แล้วว่าหากถูกสรรพากรเรียกภาษีย้อนหลัง ต้องทำยังไง ไปดูกันเลย!
รวบรวมข้อมูลสำคัญ
หากโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ รวบรวมหลักฐาน ได้แก่ ที่มาของรายได้หรือ Statement รายได้ของปีที่ถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังที่แสดงจำนวนเงินทั้งหมดที่เข้าบัญชี นำไปชี้แจงให้สรรพากรครับ
ตรวจสอบรายการภาษีของแต่ละปี
หลังจากตรวจสอบแล้วพบว่าตนเองมีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ภาษีที่ต้องนำส่งกรมสรรพากรนั้นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ก่อน และต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในทุกๆ เดือน นอกจากนี้ ยังต้องจ่ายภาษีเงินได้ในช่วงครึ่งปีและปลายปีด้วยครับ สำหรับใครที่มีรายได้ตามเกณฑ์และเพิ่งจะได้จดทะเบียน VAT กรมสรรพากรจะเรียกเก็บภาษีย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่มีรายได้ถึง 1.8 ล้านบาทครับ
- ผู้ที่เคยเสียภาษีมาแล้ว : รวบรวมเอกสารการจ่ายภาษีที่เป็นหลักฐานทั้งหมดส่งไปยังกรมสรรพากร
- ผู้ที่ไม่เคยเสียภาษี : กรณีนี้ คุณต้องจ่ายค่าปรับตามข้อมูลข้างต้น รวมถึงภาษีที่ต้องชำระทั้งหมดครับ
ชำระภาษีและจ่ายค่าปรับ
เมื่อส่งหลักฐานให้ทางกรมสรรพากรเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องชำระภาษีที่ค้างไว้ พร้อมจ่ายค่าปรับตามที่กฎหมายกำหนด รายละเอียดค่าปรับภาษีย้อนหลังก็ตามที่พี่โอกาสเขียนไว้ข้างบนเลยครับ ส่วนใครที่ยื่นแบบล่าช้าแต่ไม่มีภาษีที่ต้องจ่าย ก็จะโดนแค่โทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาทครับ
ติดต่อกรมสรรพากร กรณีไม่มีเงินจ่าย
สำหรับคำถามที่ว่า ถ้าถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง แต่ไม่มีเงินจ่ายจะทำยังไงดี กรณีนี้เราสามารถติดต่อพูดคุยกับกรมสรรพากร เพื่อผ่อนจ่ายเป็นงวดแทนได้ครับ โดยสามารถผ่อนได้ 3 งวด แบบไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งยอดแต่ละงวดต้องมากกว่า 3,000 บาท จะเลือกยื่นแบบกระดาษหรือยื่นแบบออนไลน์ก็ได้ครับ
ผู้ประกอบการขายของออนไลน์ ระวังตัวยังไงไม่ให้โดนภาษีย้อนหลัง
พออ่านมาจนถึงตรงนี้แล้ว คงไม่มีใครอยากโดนเก็บภาษีย้อนหลังแน่นอน นอกจากค่าปรับที่ต้องจ่ายแล้ว ยังตามมาด้วยเงินเพิ่มอีกมหาศาล ดังนั้น ควรเตรียมตัวยื่นภาษีให้ดีแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่เป็นอีกอาชีพที่สุ่มเสี่ยงมากที่สุด สำหรับใครที่ไม่รู้จะต้องระวังตัวยังไง พี่โอกาสมีวิธีมาให้ทุกคนแล้วครับ
- ทำบัญชีรายรับรายจ่ายทุกเดือน เพื่อให้สรรพากรสามารถตรวจสอบได้ว่าเรามีรายได้ประเภทใดบ้าง
- เก็บหลักฐานเกี่ยวกับการจ่าย โอนเงิน หรือลงทุนทั้งหมดเอาไว้
- ติดตามข่าวสารการเงินอยู่เสมอ เพื่อจะได้ไม่พลาดข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายภาษี เพราะในแต่ละปีอาจมีเงื่อนไขหรือการลดหย่อนภาษีที่ไม่เหมือนกัน
สรุป
เพื่อนๆ พอจะเห็นความน่ากลัวของการโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังแล้วใช่ไหมครับ ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการหรือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เท่านั้นที่ต้องระวังตัว พนักงานประจำเองก็เช่นกัน เพราะจ่ายภาษีเป็นหนึ่งในหน้าที่ของประชาชน ดังนั้น อย่าพยายามเลี่ยงภาษีกันนะครับ ตอนนี้ก็ใกล้จะหมดเขตการยื่นภาษีออนไลน์แล้ว อย่าลืมตรวจสอบเอกสารให้ครบถ้วน และยื่นภาษีให้เรียบร้อยภายในวันที่ 16 เม.ย. 2566 นี้นะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก itax.in.th และ zortout ด้วยครับ