Home / บทความทั้งหมด / [สรุปง่ายๆ] ตั้งวงแชร์เล่นกันยังไง ผิดกฎหมายหรือเปล่า?

[สรุปง่ายๆ] ตั้งวงแชร์เล่นกันยังไง ผิดกฎหมายหรือเปล่า?

การเล่นแชร์ ผิดกฎหมายไหม เล่นยังไง

“การเล่นแชร์” เป็นวิธีการออมเงินและหมุนเงินแบบหนึ่ง ที่อยู่คู่กับบ้านเรามานานแล้ว แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้จักว่า วงแชร์คืออะไร เค้าเล่นกันยังไง ผิดกฎหมาย พรบ.หรือเปล่า แล้วพวกวงแชร์ออนไลน์ที่เจอกันบ่อยๆในช่วงนี้เป็น แชร์ลูกโซ่ หรือไม่ วันนี้ FINSTREET จะพาคุณไปหาคำตอบกันครับ !

การเล่นแชร์ คืออะไร ?

การเล่นแชร์เป็นที่รู้จักกันดีในสังคมไทย เพราะเป็นการได้มาซึ่งเงินก้อนโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาสินเชื่อจากธนาคารหรือบริษัทสินเชื่อ ไม่ต้องใช้เอกสารการกู้เงินอย่าง สลิปเงินเดือน และไม่ต้องมีหลักค้ำประกันอะไรเลย

ที่เป็นอย่างนั้นเพราะว่า การเล่นแชร์เป็นการลงทุนที่อาศัย ความไว้เนื้อเชื่อใจของคนในวงแชร์ โดยคนในวงแชร์จะเป็นใครก็ได้ เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือเพื่อน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายๆ ที่เรียกว่าการเล่นแชร์​คือการลงทุนเพราะคุณได้ผลตอบแทนในตอนท้าย

และเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ เข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น ได้ลงทุนง่ายขึ้น ก็ตัดปัญหาการ กู้เงินนอกระบบ ที่ถึงแม้จะมีดอกเบี้ยสูงเทียนเท่ากัน แต่ก็ยังสบายใจกว่า เพราะเป็นการเล่นแชร์ ลงทุนในแชร์กับเพื่อนหรือคนรู้จักนั่นเอง

ตัวละครสำคัญที่ต้องมีในการเล่นแชร์

หลายคนอาจจะไม่เคยรู้จัก “การเล่นแชร์” มาก่อนแน่ๆ ดังนั้น FINSTREET จะมาพามารู้จักตัวละครสำคัญที่เกิดขึ้นในการเล่นแชร์กันครับ ท้าวแชร์คือใคร ลูกแชร์คือใคร เปียแชร์ยังไง ไปดูกันเลย!

ท้าวแชร์คือใคร มีหน้าที่อะไรในวงแชร์ ?

คนที่มีความสามารถในการรวบรวมเงินของสมาชิกในวงแชร์​ และจัดการกับเงินในวงแชร์ได้อย่างราบรื่น มีทักษะการจัดแจงเรื่องเงิน เช่น ถ้าเดือนนั้นเงินไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในกติกาของวงแชร์ ท้าวแชร์จะต้องออกเงินให้ก่อนเพื่อมีสำรองไว้ให้คนที่จะเปียแชร์

ดังนั้นหน้าที่นี้ต้องเป็นหน้าที่ของ คนที่ไว้ใจได้ เพราะดูแลเงินทั้งหมดตลอดระยะเวลาการเล่นแชร์

ลูกแชร์คือใคร มีหน้าที่อะไรในวงแชร์ ?

สมาชิกในวงแชร์ มีหน้าที่ส่งเงินลงเงินกองกลางเป็นงวดๆ โดยเงินนั้นสมาชิกทุกคนในวงแชร์สามารถเปียแชร์ได้ตามความต้องการ

เล่นแชร์ยังไง เปียแชร์คืออะไร แล้วใครจะได้ก่อนได้หลัง ?

หลังจากที่ได้ทำความรู้จักกับตัวละครหลักไปแล้ว ลำดับต่อไปคือการดูวิธีเล่นแชร์กันครับว่าเขาเล่นแชร์กันยังไง แล้วการเปียแชร์คืออะไร ใครจะได้เงินก่อนได้หลัง มีหลักเกณฑ์อย่างไร เพื่อให้เข้าใจแบบเห็นภาพมากขึ้น ของอธิบายเป็นฉากๆ ดังนี้ครับ

ฉากที่ 1 : จับกลุ่มตั้งวงแชร์​

นางสาวเอ อยากได้เงินก้อน จึงสอบถามกับเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนในที่ทำงานว่าอยากเล่นแชร์กันไหม มาลงทุนเล่นแชร์กันเถอะ อย่างน้อยก็จะได้มีเงินก้อนมาใช้ ซึ่งนางสาวเอจึงทำการรวบรวมเพื่อนทั้งหมด 5 คน โดยสมาชิกในวงแชร์ประกอบไปด้วย นางสาวเอ นางสาวบี นางสาวซี นางสาวดี และนางสาวอี

ฉากที่ 2 : ตกลงหาว่าใครจะเป็นท้าวแชร์ ใครจะเป็นลูกแชร์

เมื่อสมาชิกในการเล่นแชร์ครบแล้ว ทุกคนต่างก็คัดสรรว่าใครจะรับหน้าที่เป็น “ท้าวแชร์” โดยมิติเอกฉันท์ลงชื่อว่าให้นางสาวอีเป็นท้าวแชร์ เพราะทั้ง 5 คนรู้จักกันมานาน และรู้ว่านางสาวอีมีความรับผิดชอบเรื่องเงินและไว้ใจได้ ส่วน 4 คนที่เหลือ ก็อยู่ในสถานะลูกแชร์ที่ต้องส่งเงินทุกงวด

ฉากที่ 3 : เริ่มกำหนดกติการส่งเงินลงกองกลาง

หลังจากนั้นทั้ง 5 คนจึงเริ่มกำหนดกติกาว่า ทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน ทุกคนในวงแชร์จะต้องลงเงินกองกลางจำนวน 2,000 บาท เป็นระยะเวลา 5 เดือน และคุยกันว่า จะจ่ายดอกเบี้ยอย่างไร เพราะดอกเบี้ยเงินแชร์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบคือ

• ดอกเบี้ยเงินแชร์แบบหัก

ดอกเบี้ยแบบหักสำหรับการเล่นแชร์ หมายถึงว่า คนเปียแชร์จะได้เงินก้อนนั้นแบบไม่เต็มจำนวน เพราะถูกหักไปแล้ว โดยดอกเบี้ยที่ถูกหักออกมาจะมาจ่ายให้ลูกแชร์คนอื่นๆ และในเดือนต่อๆ ไปที่เหลือคนที่เปียแชร์ได้ก็ส่งเงินตามปกติ

• ดอกเบี้ยเงินแชร์แบบตาม

ดอกเบี้ยแบบตามสำหรับการเล่นแชร์ หมายถึงว่า คนเปียแชร์จะได้เงินก้อนนั้นเต็มจำนวน แต่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยตามหลังไปในทุกๆ เดือนจนกว่าจะหมดรอบของการส่งเงินแชร์ลงกองกลาง

ซึ่งดอกเบี้ยเงินแชร์ทั้งสองแบบจะช่วยให้การจ่ายเงินลงกองกลางของสมาชิกในวงแชร์ไม่ติดขัด เช่น ท้าวแชร์อาจเสนอว่าคิดดอกเบี้ยเงินแชร์แบบหักดีกว่า เพราะเดือนต่อๆ ไปจะได้ไม่ต้องกังวลว่าจะส่งเงินไม่ไหว

ดังนั้น ก่อนจะเริ่มเปียแชร์ต้องคุยเรื่องนี้กันด้วย ว่าอยากให้คิดดอกเบี้ยแบบไหน แล้วใช้เหมือนกันทั้งวงแชร์ แล้วเขียนตารางการเล่นแชร์ขึ้นมา เพื่อจดว่าใครจะได้เปียแชร์มือแรก มือสอง หรือมือสุดท้ายครับ

ฉากที่ 4 : สมาชิกในวงแชร์เริ่มส่งเงินเดือนแรก

อย่างที่กล่าวไปว่าต้องส่งแชร์ทั้งหมด 5 เดือนใช่ไหมครับ (เนื่องจากมีสมาชิกในวงแชร์​ 5 คน) ดังนั้น ในเดือนแรกลูกแชร์ทั้ง 4 คน และท้าวแชร์อีก 1 คนต้องส่งเงินลงกองกลางคนละ 2,000 บาท  จะรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,000 บาทต่อเดือน หากถามว่าท้าวแชร์ได้อะไร คำตอบคือ อภิสิทธิ์ในการได้ใช้เงิน 10,000 บาทก้อนแรกก่อน แลกกับการดูแลเงินที่เหลือในกองกลางครับ

ฉากที่ 5  : ลูกแชร์ขอเปียแชร์ต้องทำยังไง

เป้าหมายในการเล่นแชร์ คือการได้เงินก้อนมาใช้ ดังนั้น การเปียแชร์เลยเป็นหัวใจสำคัญของการเล่นแชร์ แต่การเปียแชร์ที่ลูกแชร์สามารถทำได้จะเริ่มขึ้นในเดือนที่ 2 นะครับ เพราะเดือนแรกเงินก้อนนั้นเป็นของท้าวแชร์ไปแล้ว

วิธีการเปียแชร์ก็ง่ายมาก คนที่ต้องการเงินก้อนให้เสนอดอกเบี้ยที่ยอมจ่ายให้กับท้าวแชร์ได้รู้ แต่ในเดือนนั้นก็ไม่ได้มีแค่ลูกแชร์คนเดียวที่ต้องการเงิน อาจมีถึง 2 คนด้วยกัน เช่น นางสาวเอกับนางสาวบีอยากได้เงินก้อน

ดังนั้น ลูกแชร์ห้ามบอกดอกเบี้ยที่พร้อมจ่ายหลังจากเปียแชร์ได้แล้วให้คนอื่นรู้ เพราะถ้าคู่แข่งรู้ก็จะสามารถเอาชนะการแย่งชิงเงินก้อนในเดือนนั้นได้แบบง่ายๆ  ถ้าใครเสนอดอกเบี้ยที่สูงกว่าก็มีถือเป็นผู้ชนะและได้เงินก้อนนั้นไป โดยวงแชร์นี้ที่มีนางสาวอีเป็นท้าวแชร์ มีคนเสนอดอกเบี้ยคือ

  1. นางสาวเอ พร้อมจ่ายดอกเบี้ยหลังเปียแชร์ได้ 40 บาท
  2. นางสาวบี พร้อมจ่ายดอกเบี้ยหลังเปียแชร์ได้ 40 บาท

ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะหาคนชนะยังไงใช่ไหมล่ะครับ วิธีที่ง่ายที่สุดที่คือการจับฉลาก เขียนชื่อของลูกแชร์ลงไป จับได้ใครคนนั้นก็ได้เงิน คนไม่ได้เงิน ดอกเบี้ยที่เสนอไปก็ถือว่าเป็นโมฆะครับ นี่เป็นการเล่นแชร์ที่แฟร์เกมสุดๆ เลย

ฉากที่ 6 : คนเปียแชร์เริ่มจ่ายเงินประจำเดือนพร้อมดอกเบี้ย

ถ้าวงแชร์เลือกจ่ายดอกเบี้ยแบบหัก หมายถึงว่า นางสาวเอที่เปียแชร์มือแรกจะได้เงินก้อนนั้นจำนวน 9,880 บาท พราะถูกหักดอกเบี้ย 120 บาทโดยแบ่งออกไปจ่ายให้ลูกแชร์ 3 มือที่เหลือคนละ 40 บาท

แต่ถ้าวงแชร์เลือกการจ่ายดอกเบี้ยแบบตาม หมายความว่า นางสาวเอจะต้องจ่ายค่าแชร์ 2,000 บาทต่อเดือนและจ่ายเพิ่มอีก 40 บาทที่เป็นดอกเบี้ยไปจนกว่าจะหมดรอบของวงแชร์นั้นๆ ครับ

ฉากที่ 7 :  คนเปียแชร์คนต่อไปก็ทำตามในวิธีเดียวกัน

เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 3 ลูกแชร์อย่างนางสาวบีก็ยังคงร้อนเงิน และนางสาวซีก็อยากได้เงิน ทั้งคู่มีความตั้งใจอยากเปียแชร์ ดังนั้น จึงต้องบอกดอกเบี้ยที่อยากจ่ายในรอบนี้ให้กับท้าวแชร์อย่างนางสาวอีได้รับรู้ ซึ่งดอกเบี้ยในแต่ละรอบไม่จำเป็นจะต้องเท่ากัน เพราะการคิดดอกเบี้ยจะคิดเป็นรอบ ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเท่าเดิม รอบนี้จึงมีการเสนอดอกเบี้ยเงินแชร์ คือ

  1. นางสาวบีเสนอดอกเบี้ยเงินแชร์ไป 20 บาท
  2. นางสาวซีเสนอดอกเบี้ยเงินแชร์ไป 25 บาท

ผู้ที่ได้เงินก้อนไปคือนางสาวซี และทุกคนที่เหลือก็ทำวิธีเดียวกันในทุกรอบจนกว่าจะได้เปียแชร์มือสุดท้าย โดยคนเปียแชร์มือสุดท้ายจะได้ดอกเบี้ยทั้งหมดตั้งแต่เริ่มเล่นแชร์มาครับ

เล่นแชร์ดีไหม? แล้วท้าวแชร์ได้อะไร ลูกแชร์ได้อะไร?

อ่านถึงตรงนี้ คุณคงกำลังชั่งใจอยู่ว่าจะเล่นแชร์ดีไหม เพราะอยากได้เงินก้อนมาหมุนในชีวิตประจำวัน FINSTREET ขอตอบให้เลยว่า “เล่นก็ดี ไม่เล่นก็ได้” เพราะอยู่ที่คุณว่าจะสามารถรับมือกับปัญหาและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังได้หรือไม่ เช่น ท้าวแชร์หนี ท้าวแชร์ไม่จ่ายเงิน

จึงได้บอกไปตั้งแต่ต้นเลยครับว่า การเล่นแชร์ต้องเล่นกับคนที่รู้จักมักจี่กันอยู่แล้ว และคนที่จะเป็นท้าวแชร์ต้องไว้ใจได้ เพราะคือคนที่ดูแลทั้งหมดของลูกแชร์​ จะให้ใครมาเป็นท้าวแชร์แบบสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้เลย เพราะเดี๋ยวได้เกิดเรื่องอย่างที่กังวลขึ้น

เป็นท้าวแชร์แล้วได้อะไร ?

การเป็นท้าวแชร์จะได้อภิสิทธิ์ในการมีเงินก้อนก่อนใครในวงแชร์ ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย แต่ต้องแลกมากับการรับผิดชอบเงินในวงแชร์ให้หมุนได้โดยไม่ติดขัด แล้วที่สำคัญถ้าลูกแชร์หนี ท้าวแชร์ก็ต้องรับผิดชอบ

เป็นลูกแชร์แล้วได้อะไร ?

ลูกแชร์ไม่ต้องแบกรับการดูแลเงินทั้งหมด มีหน้าที่ส่งเงินให้ตรงตามเวลาทุกเดือน แต่ต้องแลกกับการจ่ายดอกเบี้ยเงินแชร์ และคนเปียแชร์มือสุดท้ายจะได้ดอกเบี้ยทั้งหมด คือ บุคคลที่ได้รับผลตอบแทนอันคุ้มค่าจากการเล่นแชร์

ซึ่งดอกเบี้ยก็มาจากคนเปียแชร์คนก่อนๆ นั่นเอง นี่จึงเป็นการลงทุนในเงินแชร์ครับ แต่วิธีนี้จะเหมาะสำหรับคนที่ไม่ร้อนเงินมาก ไม่ได้อยากได้เงินด่วนสักเท่าไหร่

การเล่นแชร์ ผิดกฎหมายไหม ?

การเล่นแชร์ผิดกฎหมายไหม มีอะไรมารองรับการเล่นแชร์บ้าง ขอตอบเลยว่า การเล่นแชร์ไม่ผิดกฎหมาย หากไม่ทำเกินกว่าที่ พ.ร.บ.การเล่นแชร์​ พ.ศ.2543 กำหนดเอาไว้

โดยการเล่นแชร์ที่  พ.ร.บ.การเล่นแชร์​ พ.ศ.2543 ให้ความหมายเอาไว้ คือ “การเล่นแชร์ที่มีคนตั้งแต่สามคนขึ้นไป ตกลงกันว่าจะเป็นสมาชิกในวงแชร์ โดยแต่ละคนมีหน้าที่ส่งเงินหรือทรัพย์สินเอาไว้กองกลางเป็นงวดๆ เพื่อให้คนตั้งแต่สามคนขึ้นไปที่เป็นสมาชิก สามารถนำเงินออกมาหมุนเวียนใช้จ่ายได้

เล่นแชร์ให้ถูกกฎหมาย ต้องยึดตามข้อกำหนด พ.ร.บ.การเล่นแชร์

เพื่อให้การเล่นแชร์ถูกกฎหมาย ไร้มลทิน ไม่ต้องกังวลว่าจะโดนจับเข้าคุกเข้าตารางหรือเสียค่าปรับ ยังมีเนื้อความในพระราชบัญญัติ ที่กำหนดเอาไว้ว่า หากจะเล่นแชร์ ต้องทำตามเงื่อนไข ดังนี้

  • ห้ามเป็นนายวงแชร์​หรือท้าวแชร์รวมกันมากกว่า 3 วง
  • มีจำนวนสมาชิกในวงแชร์ทุกวงรวมกันไม่เกิน 30 คน
  • มีเงินทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันไม่เกิน 300,000 บาท
  • นายแชร์​หรือท้าวแชร์ ห้ามโฆษณาเชิญชวนหรือโพสต์ข้อความชวนให้เล่นแชร์

โทษปรับหากฝ่าฝืน กฎหมายแชร์

แม้จะมี พ.ร.บ.การเล่นแชร์​ พ.ศ.2543 รองรับการเล่นแชร์อยู่ ก็อย่าได้ชะล่าใจไปเลยครับ เพราะมีกฎหมายแชร์​ จึงต้องมีการต้องโทษทางกฎหมาย เพื่อไม่ให้คนในวงแชร์​ทั้งนายวงแชร์​ หรือลูกแชร์ฝ่าฝืน

ซึ่งการต้องโทษคือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ท้าวแชร์ไม่จ่าย ท้าวแชร์หนี แจ้งความได้ไหม?!

ความเสี่ยงในการเล่นแชร์​ คือ การที่ท้าวแชร์ไม่จ่าย หรือท้าวแชร์หนี ทำให้เงินลงทุนของคุณปลิวหายไปในพริบตา ซึ่งคุณสามารถแจ้งความได้ หากท้าวแชร์หนีไป โดยสามารถแบ่งออก ได้ดังนี้ 

แชร์ล้ม เปียเงินไม่ได้

ท้าวแชร์ไม่ได้หนี แต่ท้าวแชร์ไม่ได้จ่าย ด้วยเหตุผลที่ว่าหมุนเงินไม่ได้แล้ว ลูกแชร์สามารถหาทนายความเพื่อฟ้องร้องท้าวแชร์เพื่อขอเงินคืนได้เลยครับ เพราะนี่เป็นคดีความอาญา โดยให้ลูกแชร์คนอื่นๆ เป็นพยานได้ เพราะในการเล่นแชร์ตอนแรกไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้เพราะว่าไว้ใจกันนั่นเอง

ท้าวแชร์หนี ระวังติดคุก

ท้าวแชร์หนีตั้งแต่เปียแชร์ได้มือแรก ถือว่าเข้าข่ายหลอกลวงให้มีผู้ลงทุนจำนวนมาก แล้วนำเงินหนีไปตั้งแต่สามารถแจ้งความกับเจ้าหน้าที่เป็นคดีอาญาฐานฉ้อโกงได้เลยครับ

โดยลูกแชร์สามารถแจ้งตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีแก่ท้าวแชร์ได้เลย แล้วท้าวแชร์ก็จะได้หมายเรียกคดีแชร์อีกด้วย ซึ่งท้าวแชร์จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การเล่นแชร์ เหมือนกับการเล่นแชร์ลูกโซ่ไหม?

แชร์ลูกโซ่ คือ ธุรกิจเครือข่ายที่จะหายได้จากการระดมทุนของคนในกลุ่มนั้น โดยมีทริคหลอกให้ตายใจว่า จะนำเงินนั้นไปลงทุนเพื่อให้ได้กำไรงอกเงย แล้วจะนำเงินมาคืนในจำนวนที่มากกว่าเดิม

แต่ความจริงของแชร์ลูกโซ่คือ “การชวนคนใหม่ๆมาลงทุนเรื่อยๆ” แล้วนำเงินของคนใหม่มาหมุนเวียนให้คนเก่า เกิดลูปนี้ซ้ำไปมา ส่งต่อเงินกันเป็นทอดๆ จึงเรียกวิธีนี้การเล่นแชร์ลูกโซ่ครับ

กลุ่มวงแชร์ออนไลน์​ ผิดกฎหมาย พ.ร.บไหม?

ด้วยยุคที่เทคโนโลยีเป็นใจขนาดนี้ การเล่นแชร์แบบ face to face เห็นตัวเป็นๆ รู้จักกันจริงๆ ก็คงจะล้าหลังไปแล้ว ดังนั้น จึงมีวิธีเล่นแชร์แบบใหม่ที่เรียกว่า กลุ่มวงแชร์ออนไลน์ ที่เล่นแชร์ออนไลน์ผ่าน Facebook หรือ เข้ากลุ่มแชร์ไลน์ ที่ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของมุมโลกก็สามารถเป็นลูกแชร์ได้แบบสบายๆ

แต่การเล่นแชร์ออนไลน์ผ่าน Facebook หรือเข้ากลุ่มไลน์แชร์​  “ผิดกฎหมาย” การเล่นแชร์​แบบเต็มๆ เลยครับ

เพราะนี่เป็นการชี้ชวนให้ประชาชนให้มีการเล่นแชร์ออนไลน์ ซึ่งขัดกับ กฎหมายการเล่นแชร์​ พ.ศ.2543 ในเงื่อนไขที่ว่า “นายแชร์​หรือท้าวแชร์ ห้ามโฆษณาเชิญชวนหรือโพสต์ข้อความชวนให้เล่นแชร์” 

รวมไปถึง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ออกมาแจ้งเตือนประชาชนว่า ให้ระวังการเชิญชวนให้เล่นแชร์ออนไลน์ผ่าน Facebook หรือชวนเข้ากลุ่มแชร์ไลน์​ เพราะอาจแฝงตัวมาในรูปแบบของแชร์ลูกโซ่ครับ

ดังนั้น กลุ่มวงแชร์ออนไลน์ ชวนเล่นแชร์ใน Facebook หรือ ชวนเล่นแชร์ในกลุ่มไลน์​ ผิดกฎหมายการเล่นแชร์แน่นอน และต้องโทษปรับสูงสุด 50,000 บาทครับ

สรุป

การเล่นแชร์ คือการกู้เงินระยะสั้นกับคนที่รู้จักกัน ใช้ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายๆ หรือจะเรียกว่าการลงทุนก็ไม่ผิดครับ เพราะคนเปียแชร์ได้ผลตอบแทนทุกคน ซึ่งการเล่นแชร์จะไม่ผิดกฎหมายหากไม่ทำเกินกว่าที่ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ กำหนดเอาไว้ ซึ่งสมาชิกแต่ละคนในวงแชร์ก็มีหน้าที่รับผิดชอบต่างกันไป ท้าวแชร์คือผู้ดูแล ลูกแชร์คือผู้กู้ หากท้าวแชร์หนี ท้าวแชร์ไม่จ่ายเงิน ลูกแชร์ก็สามารถแจ้งความได้เลย เพราะมีโทษตามกฎหมายการเล่นแชร์รองรับอยู่ครับ

Droplead New

Let us know who you are