การจ่ายประกันสังคมทุกๆเดือน ถือเป็นเรื่องปกติของลูกจ้างหลายๆคน แต่ถ้าวันหนึ่งคุณอยากเลิกเป็นลูกจ้าง หรือต้องการเงินก้อนขึ้นมา จะสามารถขอคืนเงินประกันสังคม ก่อนอายุ 55 ปีได้หรือไม่ เราไปหาคำตอบกันครับ!
เงินประกันสังคม แบ่งไปทำอะไรบ้าง?
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 เงินสมทบที่จ่ายประกันสังคมจะคิดจาก 5% ของเงินเดือน โดยใช้ฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ทำให้มีหลายคนจ่ายประกันสังคมเดือนละ 750 บาท ซึ่งจะถูกนำไปใช้คุ้มครองโดยแบ่งเป็น 3 ก้อนดังนี้
- ก้อนที่ 1 แบ่งไป 10% หรือ 75 บาท สำหรับคนที่เงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท เงินส่วนนี้จะนำไป ‘ประกันการว่างงาน‘ ซึ่งหากลาออกหรือว่างงาน คุณจะได้ เงินชดเชยจากประกันสังคม 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย ปีละไม่เกิน 90 วัน
- ก้อนที่ 2 แบ่งไป 30% หรือ 225 บาท สำหรับเงินก้อนนี้จะคุ้มครองกรณีเจ็บป่วย เสียชีวิต ทุพพลภาพ และเบิกคลอดบุตร
- ก้อนที่ 3 แบ่งไป 60% หรือ 450 บาท เงินก้อนนี้จะเป็นส่วนที่มากที่สุดครับ เพราะจะเก็บเป็นเงินออมไว้ใช้ตอนเกษียณ หรือเป็นค่าเบี้ยชราภาพที่คุณจะได้รับเมื่ออายุครบ 55 ปี
*หมายเหตุ ช่วง ก.ย. – พ.ย. 63 เงินสมทบประกันสังคมจะคิดอยู่ที่ 2% ของฐานเงินเดือนหรือ 300 บาท สำหรับคนที่เงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท
ขอคืนเงินประกันสังคม ก่อนอายุ 55 ได้หรือไม่?
คำตอบคือ “ไม่สามารถขอคืนได้” ครับ เพราะประกันสังคมได้มีการกำหนดเงื่อนไขในการรับสิทธิเอาไว้ โดยสิทธิแต่ละกรณีต้องมีเงื่อนไขครบ 3 ข้อ ดังนี้ :
เงื่อนไขรับเงิน ‘บำนาญชราภาพ’
- จ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า180 เดือน (ไม่ต้องต่อเนื่องก็ได้)
- มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
เงื่อนไขรับเงิน ‘บำเหน็จชราภาพ’
- จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
- มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์, ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย
จากเงื่อนไขหมายความว่าเราจะขอเบิกเงินชดเชยชราภาพได้ในกรณี อายุครบ 55 ปี หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือกรณีเสียชีวิตก่อนอายุ 55 ปี
เนื่องจากวัตถุประสงค์ของทางประกันสังคมคือต้องการให้มี เงินออมเพื่อใช้ในยามเกษียณ ซึ่งปัจจุบันโดยเฉพาะในช่วงโควิดแบบนี้ ก็มีหลายคนที่ตั้งคำถามกันว่า “ควรเปลี่ยนแปลงให้สามารถเบิกสิทธิ์ได้ก่อนอายุ 55 ปีหรือเปล่า?”
เลิกเป็นลูกจ้าง อายุไม่ถึง 55 ปี เอาไงต่อดี?
บางคนอาจเคยทำงานประจำแล้วจ่ายประกันสังคมมาเรื่อยๆ แล้ววันนึงตัดสินใจเลิกเป็นลูกจ้าง โดยออกมาทำกิจการของตัวเอง หรือทำ อาชีพอิสระ (ฟรีแลนซ์) ก่อนอายุ 55 ปี กรณีนี้คุณจะมีทางเลือก 2 แบบได้แก่
1. ไม่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมต่อ
ถ้าเลือกวิธีนี้คุณไม่จำเป็นต้องทำอะไรเลยครับ อยู่เฉยๆจนอายุครบ 55 ปี แล้วค่อยรอรับเงิน ‘บำเหน็จชราภาพ’ เลยทีเดียว ทางเลือกนี้ถือว่าค่อนข้างสบายครับ สำหรับคนที่ซื้อประกันคุ้มครองรูปแบบอื่นเผื่อไว้แล้ว
แต่สำหรับคนที่ไม่มีประกันอื่นๆก็ต้องระวังนะครับ เพราะความคุ้มครองประกันสังคมจะ สิ้นสุดลงภายใน 6 เดือน หลังจากที่ออกจากความเป็นผู้ประกันตน ซึ่งหากเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตขึ้นมา จะไม่สามารถเบิกความคุ้มครองได้อีก
2. สมัครผู้ประกันตนมาตรา 39
หากคุณต้องการความคุ้มครองต่อ และอยากได้เงินบำนาญชราภาพ แนะนำให้เลือก สมัครผู้ประกันตนมาตรา 39 เลยครับ โดยปกติจะต้องจ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาท แต่ช่วง ก.ย.- พ.ย. 63 นี้จะจ่ายอยู่ที่ 96 บาทครับผม
สรุป
เราไม่สามารถเบิกเงินชราภาพก่อนอายุ 55 ปีได้ แต่หากกำลังว่างงานอยู่ สามารถใช้สิทธิเงินชดเชยว่างงานได้ครับ ส่วนสำหรับคนที่เลิกเป็นลูกจ้างถาวรจะมีตัวเลือก 2 แบบคือ สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 หรือ ไม่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมต่อ
อ้างอิงจาก : กองทุนประกันสังคม, HR Comm Arts