เชื่อว่าหลายคนมีคำถามเกี่ยวกับ กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. มากมาย ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยเท่าไหร่ เช็คยอดหนี้ที่ไหน ไม่จ่ายกี่ปีโดนฟ้อง วันนี้ FINSTREET มีคำตอบมาให้คุณแล้ว!
หากถามว่า “หนี้ก้อนแรก” ในชีวิตของเราส่วนใหญ่เป็นหนี้อะไร เด็กจบใหม่หลายคนคงจะตอบเหมือนกันว่า เป็นหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
ปัจจุบันมีคนไทยที่เป็นหนี้ กยศ.อยู่ประมาณ 4,500,000 ราย แต่ในจำนวนนี้มีคนที่ชำระหนี้ครบแล้ว แค่ประมาณ 960,000 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับลูกหนี้ทั้งหมด
และหากในอนาคตสัดส่วนยังคงเป็นเช่นนี้ นอกจากจะทำให้น้องๆรุ่นหลังขาดโอกาสในการกู้แล้ว จำนวนของผู้ค้ำประกันที่ได้รับผลกระทบในการฟ้องร้องดำเนินคดีก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) คืออะไร?
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นกองทุนที่ให้เงินกู้ยืมเพื่อการเล่าเรียนให้กับ นักเรียน นักศึกษาที่มีความจำเป็นตั้งแต่ระดับมัธยมปลาย สายอาชีพ อาชีวศึกษา ตลอดจนระดับมหาวิทยาลัยใน อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
อีกทั้งผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยระหว่างที่ศึกษาและให้ชำระเงินคืนภายหลังจากจบการศึกษาแล้ว นานสูงสุด 15 ปี ด้วยดอกเบี้ยต่ำรวมไปถึงระยะเวลาการชำระหนี้ที่ยาวนานทำให้มีหลายๆคนผิดนัดชำระหนี้คืนกับทาง กยศ. ซึ่งจะเป็นการปิดกั้นโอกาสในการศึกษากับผู้อื่นที่ต้องการ
5 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับหนี้ กยศ.
กองทุน กยศ. เสียดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยจะเริ่มคิดตั้งแต่ 2 ปีหลังจบการศึกษา ถือว่าดอกเบี้ยถูกกว่าสินเชื่อรูปแบบอื่นมาก
สามารถเช็คยอด กยศ. ได้ 4 ช่องทางได้แก่ หนังสือแจ้งภาระหนี้ (ปีละครั้ง), เว็บไซต์ กยศ., แอปฯ กยศ. Connect และ แอปฯ เป๋าตัง
หากค้างชำระหนี้เกินกว่า 4 ปี 5 งวด (1,460 วันขึ้นไป) ผู้กู้ยืม กยศ. จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 คดีหนี้ กยศ. จะมีอายุความ 10 ปี
เนื่องจากสถานการณ์โควิด19 ตอนนี้ผู้กู้ยืมที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถพักชำระหนี้ได้ 2 ปี
ไม่จ่าย กยศ. ตามกำหนด เจออะไรบ้าง?
กรณีเราค้างชำระมานานพอสมควร กยศ.จะเริ่มจากการ ติดตามหนี้ ทางโทรศัพท์และส่งหนังสือติดตามทวงหนี้มายังผู้กู้และผู้ค้ำประกัน พร้อมทั้งจ้างบริษัทติดตามหนี้ (บริการด้านกฎหมาย)
หากยังไม่จ่ายอีก ทางกยศ.จะ บอกเลิกสัญญา และ ฟ้องดำเนินคดี ให้คุณไปขึ้นศาลซึ่งหากยังไม่ไปตามหมายนัด ศาลจะสั่งพิพากษาให้ต้องชำระเงินที่กู้ไปเต็มจำนวน เเละจะถูกยึดทรัพย์ตามกระบวนการได้ครับ
ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำเมื่อโดนหมายศาลคือ อย่าเพิ่งตกใจ ให้ไปตามนัดเพื่อไกล่เกลี่ย ซึ่งจะสามารถขอผ่อนชำระหนี้รายเดือนได้ ภายในระยะเวลา 9 ปี
และจากนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราต้องทำหลังจากนี้คือ ไปชำระหนี้ครับ เพราะจะได้ไม่ถูกยึดทรัพย์ และเป็นการส่งต่อโอกาสให้กับน้องๆรุ่นๆหลังอีกด้วย
3 ขั้นตอนใช้หนี้ กยศ. ให้หมดไว
หลังจากที่เรารู้แล้วว่าการขาดชำระหนี้ กยศ.จะทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง เราจะมาแนะนำขั้นตอนง่ายๆที่จะทำให้สามารถปลดหนี้ได้ไวขึ้น และสามารถประหยัดเงินเราไปได้อีกด้วย
1. เก็บเงินตั้งแต่ช่วงปลอดหนี้ 2 ปี
ปกติแล้วหลังจากที่เราจบการศึกษา กยศ.จะใจดีให้เวลาเราถึง 2 ปีก่อนจ่ายงวดแรก เพื่อที่จะมีเวลาให้เราได้หางานโดยไม่ต้องกังวลเรื่องหนี้
แต่หลายๆคนก็อาจไม่ได้เก็บเงินไว้จ่ายหนี้เลยในช่วง 2 ปีนี้ ทำให้เสียโอกาสในการลดเงินต้นไปในช่วงแรก เพราะฉะนั้นถ้าได้งานแล้วก็อย่าลืมเก็บเงินเผื่อไว้ในช่วงนี้ด้วยนะครับ
2. จ่ายให้ตรงเวลา เพราะค่าเบี้ยปรับสูงมาก !
หลายๆคนอาจะมองว่าดอกเบี้ยกยศ.คิดต่ำมากแค่ 1%ต่อปี ทำให้ละเลยที่จะจ่ายแต่ละงวดให้ตรงเวลา แต่อย่าลืมว่าถ้าเราจ่ายหนี้ของเราในงวดนั้นๆช้าไป กยศ.จะคิด ดอกเบี้ยปรับสูงถึง 1.5% ต่อเดือน ของยอดหนี้ที่ต้องชำระในเดือนนั้นๆเลยทีเดียวครับ
3. ออมทุกเดือน ได้ทั้งประหยัดดอกและปิดหนี้ไวขึ้น
การที่เราออมเงินทุกเดือนนอกจากจะทำให้เรามีวินัยทางการเงินแล้ว ยังจะช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ยรวมทั้งปิดหนี้ได้เร็วขึ้นด้วย เพราะกยศ.จะมีการคิด ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก
ออมแบบนี้ ประหยัดดอกเบี้ย กยศ. ได้เท่าไหร่?
จากตัวอย่างจะเห็นนะครับว่าถ้าเราจ่ายตามเกณฑ์ขั้นต่ำของกยศ. ในกรณีที่เรามียอดหนี้ 300,000 บาท เราจะต้องจ่ายดอกเบี้ยถึง 27,825 บาท และใช้เวลาตั้ง 15 ปีในการปิดหนี้
แต่ถ้าเรามีการออมเงินตั้งแต่หลังเรียนจบทุกเดือน จะทำให้ดอกเบี้ยและระยะเวลาปิดหนี้ลดลงได้
เช่น จากตัวอย่างในตาราง ถ้าเราออมเดือนละ 2,500 บาท หรือ แค่วันละประมาณ 60 บาท จะทำให้ประหยัดดอกเบี้ยไปถึง 16,397 บาท และใช้เวลาปิดหนี้เพียงแค่ 10 ปีเท่านั้นครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา