โอนเงินผิดบัญชี เป็นสถานการณ์ที่ทำให้ใครหลายคนต้องตกอยู่ในสถานการณ์อันน่ากังวลใจว่า โอนเงินเข้าบัญชีคนอื่นจะได้เงินคืนไหม เพราะนึกเสียดายเงินที่โอนผิดไปเข้าบัญชีคนอื่น ถึงจำนวนเงินจะไม่ได้เยอะมากแต่ก็สามารถกินข้าวได้หลายมื้อ เรื่องนี้พี่โอกาสเข้าใจเป็นอย่างดี เลยจะชวนคุณมาคลายความสงสัยไปพร้อมกันว่า ถ้าโอนเงินผิด เอาคืนได้ไหม ต้องแจ้งใคร และภายในกี่วัน รวมไปถึง ถ้าอยู่ดีๆ มีเงินโอนเข้าบัญชี และคุณก็ไม่รู้ว่าเงินมาจากไหน จะโอนเงินคืนกลับไปได้เลยหรือเปล่า เชิญหาคำตอบได้ในบทความนี้เลยครับ!
โอนเงินผิดบัญชี ควรทำยังไงดี ในฐานะที่เป็นผู้โอนเงิน
สมัยนี้การทำธุรกรรมทางการเงินนั้นง่ายมาก ใช้เวลาไม่กี่วินาทีก็โอนเงินเข้าบัญชีของผู้รับโอนได้แล้ว แค่เปิดแอปพลิเคชันของธนาคารที่มีบัญชีเงินฝากอยู่ กรอกเลขบัญชีหรือหมายเลขพร้อมเพย์ ใส่จำนวนเงินที่จะโอน และกดโอน เป็นอันเสร็จ แต่หลายคนกลับประมาทชนิดที่ว่าโอนเงินผิดเข้าบัญชีคนอื่นเพราะใส่เลขพร้อมเพย์ผิด แถมยังกดโอนไปแบบเร็วๆ โดยไม่ได้เช็กข้อมูล ซึ่งเรื่องนี้คือเรื่องที่คุณต้องรู้เมื่อโอนเงินผิดไปบัญชีคนอื่น
โอนเงินผิดบัญชีคนอื่น ต้องแจ้งธนาคารภายในกี่วัน?
ทันทีที่กดโอนเงินไปบัญชีปลายทางแล้ว แทบทุกคนย่อมเช็กสลิปโอนเงินอีกครั้งเพื่อความถูกต้อง แต่ถ้าคุณดันโอนเงินผิดบัญชีเพราะกรอกเลขพร้อมเพย์ผิดไป 1 ตัว ก็ควรรีบแจ้งธนาคารเรื่องโอนเงินผิดบัญชีเพื่ออายัดบัตรให้เร็วที่สุด แต่ถ้าโอนเงินผิดหลังเวลาทำการของธนาคาร ระหว่างนั้นคุณก็รวบรวมหลักฐานที่โอนเงินผิดไปให้บัญชีอื่นไว้รอก็ได้ แล้วค่อยแจ้งเรื่องเมื่อถึงเวลาทำการพร้อมส่งหลักฐานไปยังเจ้าหน้าที่ธนาคารได้เลย
โอนเงินผิดเข้าบัญชีคนอื่น ใช้เอกสารหรือเตรียมข้อมูลอะไรบ้าง
เรื่องนี้อยู่ที่ธนาคารที่คุณมีบัญชีเงินฝากเลยครับว่าพวกเขาจะขอเอกสารอะไรบ้างเพื่อดำเนินเรื่องขอเงินคืนจากเลขบัญชีปลายทางที่โอนผิดไป เพราะแต่ละธนาคารก็ใช้เอกสารไม่เหมือนกัน แต่ส่วนมากแล้วถ้าโอนเงินผิดบัญชีด้วยการใส่หมายเลขพร้อมเพย์ หรือหมายเลขบัญชีปลายทาง ธนาคารจะขอเอกสารหรือข้อมูล ดังนี้
- ข้อมูลที่สำคัญ เช่น วันและเวลาที่โอนเงิน ช่องทางการโอนเงิน เช่น Mobile Banking, Internet Banking หรือเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ATM / CDM / VTM)
- เอกสารทำรายการโอนเงิน เช่น สลิปการโอนเงินหรือใบบันทึกรายการ (หากโอนเงินด้วยการใช้แอปพลิเคชันของธนาคาร) หรือสลิปใบบันทึก (หากโอนเงินที่ตู้ ATM) หรือข้อความแจ้งผลการโอนเงิน
- ชื่อบัญชีและเลขที่บัญชี เลขประจำตัวประชาชน หรือเบอร์มือถือที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ ของผู้โอน ผู้ที่ต้องการโอนให้ และผู้รับโอนผิด (ถ้ามี)
- เอกสารเพิ่มเติม (ตามที่แต่ละธนาคารกำหนด) เช่น ใบคำร้องขอตรวจสอบการโอนเงินผิดบัญชี สำเนาบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง ใบแจ้งความหรือบันทึกประจำวันที่ระบุเหตุการณ์
โอนเงินผิดบัญชี ไปเข้าบัญชีคนอื่นจะดึงเงินคืนได้ไหม?
โอนเงินผิดบัญชีสามารถดึงเงินคืนมาได้ครับ แต่พี่โอกาสต้องบอกก่อนว่าธนาคารไม่สามารถบังคับให้ผู้รับโอนโอนคืนมาได้เลย แต่ธนาคารเป็นเพียง “ตัวกลาง” ในการประสานเรื่องให้เท่านั้นครับ แต่ในกรณีที่โอนเงินผิดบัญชีเนื่องจากระบบของธนาคารขัดข้อง ธนาคารจะสามารถดำเนินเรื่องได้เลย ไม่ใช่แค่เป็นตัวกลางครับ
โอนเงินผิดเข้าบัญชีคนอื่น แล้วอีกฝั่งไม่ยอมคืนเงินให้ ทำยังไงดี?
ถ้าคุณโอนเงินผิดเข้าบัญชีคนอื่นแล้วติดต่อปลายทางไม่ได้เลย หรือธนาคารดำเนินเรื่องประสานงานให้ ติดต่อผู้รับโอนผิดได้แล้วแต่ไม่ยอมโอนเงินคืนมาให้ คุณสามารถแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เลย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ออกคำสั่งทางกฎหมายให้ธนาคารของผู้รับโอนผิดอายัดบัญชี หรือเปิดเผยข้อมูลของบัญชีผู้รับโอนผิด เพื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการทางกฎหมายในลำดับถัดไป
เบอร์โทรติดต่อธนาคาร เมื่อคุณกดโอนเงินผิดเข้าบัญชีคนอื่น
- ธนาคารกรุงเทพ โทร. 1333
- ธนาคารกรุงไทย โทร. 0-2111-1111
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา โทร. 1572
- ธนาคารกสิกรไทย โทร. 0-2888-8888
- ธนาคารเกียรตินาคินภัทร โทร. 0-2165-5555
- ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย โทร. 0-2626-7777
- ธนาคารทหารไทยธนชาต โทร. 1428
- ธนาคารทิสโก้ โทร. 0-2633-6000
- ธนาคารไทยพาณิชย์ โทร. 0-2777-7777
- ธนาคารยูโอบี โทร. 0-2285-1555
- ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ โทร. 1327
- ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด โทร. 0-2724-4000
- ธนาคารไอซีบีซี โทร. 0-2629-5588
- ธนาคารไทยเครดิต 0-2697-5454
- ธนาคารซิตี้แบงก์ โทร. 1588
- ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โทร. 1357
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร. 0-2555-0555
- ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร. 0-2169-9999
- ธนาคารออมสิน โทร. 1115
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร. 0-2645-9000
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทร. 1302
โอนเงินผิดบัญชี ทำยังไงดีในฐานะที่เป็นผู้รับโอนผิด
การโอนเงินผิดบางครั้งคุณอาจอยู่ในสถานะ “ผู้รับโอนผิด” ก็ได้ หมายถึงว่าในขณะที่ไถมือถือหาแหล่งกู้เงิน หรือช้อปปิ้งออนไลน์ อยู่ดีๆ ก็มีเงินโอนเข้าบัญชี ไม่รู้มาจากไหน ไม่รู้ว่าใครเป็นคนโอนเงินมา และคนโอนเงินผิดก็ไม่ติดต่อมาด้วย บางครั้งก็ติดต่อมาแล้วบอกว่า “โอนเงินผิด โอนคืนกลับมาให้หน่อยได้ไหม” ซึ่งจริงๆ ถ้าคุณตกอยู่ในสถานะผู้รับโอนผิด พี่โอกาสอยากให้คุณรู้ข้อมูลที่จำเป็นเหล่านี้เอาไว้นะครับ
มีคนโอนเงินมาผิด แล้วติดต่อมา สามารถโอนคืนไปได้เลยไหม?
จริงๆ ถ้าอยู่ดีๆ แล้วมีคนเงินโอนเข้าบัญชีมา และเป็นคนที่คุณรู้จักกันก็สามารถโอนคืนให้ได้เลย เพราะเขาอาจจะกดผิดบัญชีที่ได้บันทึกเอาไว้ แต่ถ้าอยู่ดีๆ มีเงินเข้าบัญชี ไม่รู้มาจากไหน แล้วจู่ๆ ก็มีคนโทรกลับมาหา แล้วแสดงตัวว่าเป็นคนโอนเงินเข้าบัญชีของคุณ ช่วยโอนกลับมาให้หน่อยได้ไหม โปรดใจเย็นๆ อย่าเพิ่งโอน
ที่พี่โอกาสบอกแบบนั้นเป็นเพราะว่า เงินที่โอนผิดเข้าบัญชีของคุณอาจจะเป็นเงินผิดกฎหมายที่ผ่านการทำผิดมาก่อน ซึ่งการโอนเงินผิด มิจฉาชีพมักจะใช้เล่ห์อุบายโอนมาผิด แล้วให้คุณโอนกลับไป เมื่อคุณตกลงโอนให้เลยโดยไม่รู้ตัว คุณก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟอกเงินไปโดยปริยาย
หากคุณบริสุทธิ์ใจว่าพร้อมจะโอนเงินคืนให้ ในกรณีที่มีคนโอนเงินผิดแต่ไม่มีใครติดต่อมา หรือมีติดต่อมา ให้แจ้งไปยังธนาคารว่ามีเงินโอนเข้ามาเพื่อให้ธนาคารรับเรื่อง เพราะฝั่งที่เป็นผู้โอนผิดก็จะติดต่อให้ธนาคารเป็นตัวกลางให้ประสานงานเช่นกัน เมื่อต่างคนต่างยินยอม ธนาคารก็จะดำเนินการให้ โดยที่คุณไม่ต้องโอนเอง
อยู่ดีๆ มีเงินโอนเข้ามาในบัญชี ไม่รู้มาจากไหน เอาไปใช้ได้เลยหรือเปล่า
มีคนโอนเงินผิดมา ไม่ยอมคืนให้ แล้วเอาไปใช้ไม่ได้นะครับ ถึงแม้เงินนั้นจะโอนผิดมาอยู่ในบัญชีของคุณจริงๆ ก็เถอะ แต่เจ้าของเงินสามารถแจ้งความเอาผิดให้คุณได้รับโทษตามกฎหมายได้นะ ถ้าคุณไม่ยินยอมส่งเงินคืนให้เจ้าของ แม้ธนาคารจะเป็นผู้ติดต่อเรื่องมา จะถือว่ามีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 253 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ยังไงก็ไม่คุ้มนะครับ
สรุป
ถ้ามีคนโอนเงินผิดเข้าบัญชีคุณอย่านำเงินคนอื่นมาใช้นะครับ แม้จะกำลังเดือดร้อนเพราะหนี้บัตรเครดิตที่ต้องจ่าย หรือกลายเป็นคนว่างงาน ประกันสังคมก็อย่าทำ เพราะจะมีโทษปรับตามกฎหมายด้วย ให้คุณติดต่อธนาคารเพื่อแจ้งข้อมูลได้เลย ในทางกลับกันหากคุณเป็นคนโอนเงินผิดเอง ก็รีบติดต่อธนาคารให้ธนาคารประสานงานให้เพื่อจะได้เงินคืนเข้าบัญชีเดิม พี่โอกาสหวังว่าบทความนี้จะช่วยคุณได้ไม่มากก็น้อยนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : กระทรวงยุติธรรม, ธนาคารแห่งประเทศไทย, กรมประชาสัมพันธ์, รัฐบาลไทย