เศรษฐกิจในช่วงนี้เรียกได้ว่า ข้าวของแพงขึ้นทุกวัน หลายคนเงินก็เริ่มช็อต หาเงินมาหมุนไม่ทัน หลายคนก็ไม่ได้มีหนี้แค่ก้อนเดียว ทั้งหนี้บ้าน หนี้บัตรเครดิต และหลายๆ คนเองที่มีหนี้รถ ก็เลือกที่จะผ่อนผันค่างวดรถไปก่อน เพราะไม่มีเงินมาจ่าย แต่ใช่ว่าค้างไว้แล้วจะไม่เกิดปัญหาอะไร วันนี้พี่โอกาสจะพาไปหาคำตอบว่า ค่างวดรถ ค้างได้กี่วัน กี่เดือน ถึงจะโดนยึดรถ แล้วถ้าเราค้างไว้นานจะติดเครดิตบูโรไหม ตามมาดูกันเลยครับ
หาเงินไม่ทัน ค่างวดรถ ค้างไว้ได้ไหม จ่ายช้าได้หรือเปล่า
ชาวมนุษย์เงินเดือนเพิ่งถอยรถคันแรกมา แต่ดันเงินช็อตกลางคัน หมุนเงินเดือนไม่พอกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน พอสิ้นเดือนได้เงินมาแล้ว ก็เลือกที่จะไปจ่ายค่าบ้านก่อน เพราะมองว่าค่างวดรถไฟแนนซ์น่าจะรอได้ แต่บางคนก็ค้างไว้นานเกิน จนไฟแนนซ์มายึดรถของเราไปแล้วซะงั้น คำถามคือ เราสามารถค้างค่างวดรถได้มากที่สุดกี่วันถึงจะไม่ถูกไฟแนนซ์ยึดรถ ถ้าจ่ายช้าทุกเดือนจะเป็นอะไรไหม บทความนี้มีคำตอบครับ
ค่างวดรถ จ่ายช้าสุดได้กี่วัน ค้างเกิน 2 เดือนได้ไหม
บางคนดันประสบปัญหาเงินหมดกะทันหัน ส่งค่างวดรถไม่ทัน อยากรู้ว่าค้างได้มากที่สุดกี่วัน คำตอบคือ เพื่อนๆ สามารถค้างค่างวดรถได้มากที่สุด 3 เดือน หรือ 3 งวด โดยปกติเมื่อเจ้าของรถถูกทวงเงินค่างวดแล้ว ไฟแนนซ์จะติดตามและคอยทวงหนี้ต่อไปอีก 30 วัน หากเลยระยะเวลานี้ไปแล้ว รถของเราก็จะถูกไฟแนนซ์ยึดไป ซึ่งต้องเช็กให้ดีด้วยนะครับว่า คนที่มายึดมาจากบริษัทไฟแนนซ์จริงๆ หรือเป็นที่คนแอบอ้างมา และก็ขอแนะนำว่า เมื่อเราทราบแล้วว่ายังไงในเดือนนี้ก็ไม่มีเงินไปโปะค่างวดรถแน่ๆ ก็ให้ลองปรึกษากับทางไฟแนนซ์ ว่ามีวิธีผ่อนผันอย่างไรบ้าง อย่างน้อยก็ยังช่วยรักษาเครดิตของเราไว้ได้ครับ
ค้างค่างวดรถ 4 เดือน เสียเครดิตไหม ออกรถใหม่ได้หรือเปล่า
หากไม่จ่ายค่างวดเลย 4 เดือนรวมระยะเวลาทวงหนี้ไปแล้ว รับรองว่าติดเครดิตบูโรแน่นอนครับ เพราะเครดิตบูโร เป็นสมุดพกที่จดประวัติการชำระหนี้ของเรา หากจ่ายไม่ทัน เราก็จะติดสถานะบูโร 020 หรือ 20 ความหมายก็คือ เรามีการค้างชำระหนี้เกิน 90 วัน โดยค่างวดรถที่ค้างไว้นั้นเข้าข่ายเป็นหนี้เสีย (NPL) ซึ่งส่งผลเสียต่อตัวคุณมากมายเลยครับ เช่น ธนาคารมีความเชื่อมั่นในตัวเราน้อยลง เพราะไม่สามารถชำระหนี้ตรงเวลาได้ ทำให้เวลายื่นขอสินเชื่อนั้นยากมากๆ และอาจทำให้เรากู้บ้านไม่ผ่านด้วยครับ เราต้องหาวิธีแก้ด้วยการวางเงินดาวน์เยอะๆ หรือหาคนมาค้ำประกันแทน สถาบันการเงินถึงจะยอมอนุมัติสินเชื่อให้ครับ
ส่วนใครที่เคยมีประวัติชำระค่างวดรถช้าจนติดเครดิตบูโรไปแล้ว แล้วอยากจะซื้อรถใหม่อีกครั้ง เพื่อนๆ ก็ต้องเคลียร์ยอด ปิดหนี้เดิมที่มีอยู่ให้หมดก่อน และรออีก 3 ปี ให้ข้อมูลเครดิตบูโรอันเก่าถูกลบไป และแสดงสถานะบูโรของเราใหม่เป็น 010 หรือ 10 ที่มีความหมายว่า สถานะปกติ ชำระหนี้ตรงเวลา จ่ายครบ ไม่มีหนี้ค้างก่อน ถึงจะสามารถออกรถใหม่อีกคันได้ ทั้งนี้ เพื่อนๆ ต้องคอยรักษาเครดิตให้ดีเหมือนเดิมด้วยนะครับ
ได้เงินโบนัสมา จ่ายค่างวดรถล่วงหน้า หรือจ่ายเกินยอดได้ไหม
บางคนได้เงินก้อนใหญ่เป็นของขวัญ หรือได้เงินโบนัสปลายปีจากบริษัทพอดี ก็อยากเอาเงินมาจ่ายค่างวดบางส่วน อาจมีคำถามว่า เราสามารถจ่ายค่างวดรถล่วงหน้า หรือจ่ายเกินยอดต่อเดือนได้ไหม พี่โอกาสต้องอธิบายก่อนครับว่า ดอกเบี้ยรถยนต์ เป็นดอกเบี้ยที่คิดแบบคงที่ (Flat Rate) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยครั้งเดียว นับตั้งแต่วันที่ทําสัญญาและคํานวณถึงวันที่ผ่อนแล้วเสร็จ จากนั้นหารด้วยจํานวนงวด แปลว่า ถึงแม้ผู้กู้จะผ่อนเงินต้นบางส่วนไปแล้ว แต่ดอกเบี้ยก็จะยังถูกคํานวณที่อัตราเงินต้นเต็มจํานวนตั้งแต่วันแรกครับ ตรงนี้จะแตกต่างจากดอกเบี้ยบ้านที่เป็นดอกเบี้ยที่คิดแบบลดต้นลดดอกครับ (Effective Rate)
จากเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่นิยมที่จะนำเงินมาโปะค่างวดรถครับ แต่หากเพื่อนๆ มีจำนวนเงินมากกว่าหนี้รถที่มีอยู่ และอยากจะปิดให้หมดในครั้งเดียว แบบนั้นจะเป็นประโยชน์มากกว่า ถ้าอยากให้จำนวนเงินค่างวดรถลดลง พี่โอกาสแนะนำให้รีไฟแนนซ์รถยนต์ จะช่วยลดดอกเบี้ยได้เยอะเลยครับ
จ่ายค่างวดรถช้า เลยกำหนดทุกเดือน แต่ไม่เคยค้างหนี้ เป็นอะไรไหม
สำหรับใครที่จ่ายค่างวดรถไม่ทันในวันที่ตกลงไว้ในสัญญา เช่น ต้องจ่ายทุกวันที่ 20 แต่ก็สามารถจ่ายได้ก่อนจะหมดเดือนนั้นๆ และดันเป็นแบบนี้ทุกเดือน ก็กลัวว่าเครดิตของเราจะเสีย ซึ่งจริงๆ แล้วเครดิตบูโรของเพื่อนๆ ยังมีสถานะปกตินะครับ เพราะถือว่ายังชำระทันในงวดนั้นๆ แต่ก็ต้องเสียค่าทวงถาม หรือค่าติดตามหนี้จากบริษัทไฟแนนซ์ ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ที่หลักสิบบาท แล้วแต่นโยบายของแต่ละสถาบันการเงินครับ
บางคนอาจจะต้องการเบี้ยว ไม่อยากจ่ายค่าทวงถาม แต่หากระบุไว้ในสัญญาซื้อขายรถแล้ว ก็ต้องจ่ายตามสัญญานะครับ โดยอัตราค่าทวงถาม กฎหมายให้ไฟแนนซ์คิดไม่เกิน 50 บาทต่อการทวงถาม 1 รอบ ในกรณีที่ลูกหนี้ค้างชำระ 1 งวด หากทวงถามในกรณีที่ค้างชำระมากกว่า 1 งวด ให้คิดไม่เกิน 100 บาทครับ
ค้างค่างวดรถ จนถูกไฟแนนซ์ยึด ต้องทำยังไงต่อ
ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการยึดรถ หลายคนไม่ทราบว่า หลังจากที่เราค้างค่างวดรถไปแล้ว 3 เดือนนั้น ในช่วงที่เราถูกติดตามทวงถามหนี้จากบริษัทสินเชื่อหรือสำนักกฎหมาย 30 วันนั้น จะมีค่าบริการที่เราต้องเป็นคนจ่ายด้วย (อัตราค่าบริการตามที่พี่โอกาสอธิบายไปข้างต้น) ซึ่งการทวงหนี้ในลักษณะนี้นั้น เป็นการทวงหนี้แบบถูกกฎหมาย โดยการส่งจดหมายเตือนลูกหนี้ล่วงหน้า ไม่ได้ใช้กำลังข่มขู่เหมือนกับหนี้นอกระบบแต่อย่างใด
และเมื่อเพื่อนๆ ค้างค่างวดเป็นเวลาเกิน 4 เดือน ทางบริษัทสินเชื่อจะแจ้งให้คุณรู้ล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 7 วันว่าจะมายึดรถ หากคุณยังไม่สามารถหาเงินมาจ่ายทัน ก็จะถูกไฟแนนซ์ยึดรถไปขายทอดตลาดครับ ซึ่งหากบริษัทสินเชื่อขายรถได้ราคาที่สูงกว่าหนี้รถที่คุณต้องจ่าย เราก็มีสิทธิ์ได้เงินส่วนต่างนั้นด้วยนะครับ
ปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถไป อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดี
บางคนเมื่อหาเงินไม่ได้ ก็เลยปล่อยให้รถถูกยึดไปเลย หลังจากไฟแนนซ์นำไปขายทอดตลาดและตีมูลค่าออกมาแล้ว ก็จะนำมาหักลบกับจำนวนหนี้เราเหลืออยู่ ว่าสามารถปิดหนี้ได้หมดหรือไม่ เช่น คุณเหลือค่างวดรถที่ต้องผ่อนอยู่ 300,000 บาท บริษัทสินเชื่อนำรถไปขายทอดตลาดได้ในราคา 220,000 บาท เหลืออีก 80,000 บาทที่ยังค้างชำระ ซึ่งคุณต้องเป็นคนเคลียร์ยอดหนี้ให้หมด สำหรับวิธีนี้พี่โอกาสไม่แนะนำครับ เพราะทำให้เราเสียเวลา เสียเครดิต ไม่มีรถใช้ในชีวิตประจำวัน แถมยังต้องไปหาเงินก้อนมาโปะส่วนต่างที่เหลืออีก
ผ่อนต่อไม่ไหว เลือกคืนรถให้ไฟแนนซ์ หรือ รีไฟแนนซ์รถยนต์ดี
บางคนที่กำลังอยู่ในช่วงค้างค่างวดรถ 2 เดือน แต่ยังพอเหลือเวลาอีก 1 เดือนก่อนจะถูกไฟแนนซ์ทวงถามรอบสุดท้าย เลยเปรียบเทียบความเสี่ยงว่า ถ้าผ่อนต่อไม่ไหว จะเลือกคืนรถให้ไฟแนนซ์ไป หรือรีไฟแนนซ์รถยนต์ แบบไหนจะเข้าท่ากว่ากัน บทความนี้พี่โอกาสขออธิบายเป็น 2 กรณีศึกษาให้ฟังง่ายๆ ครับ
จ่ายค่างวดไม่ไหว เลือกคืนรถให้ไฟแนนซ์
วิธีนี้จะต่างกับการปล่อยให้ไฟแนนซ์มายึดรถเราตรงที่ เราเป็นฝ่ายติดต่อคืนรถเอง หลังจากพิจารณาแล้วว่าผ่อนไม่ไหวแน่นอน ก็ให้ขับรถไปคุยกับบริษัทสินเชื่อ หากทางไฟแนนซ์ตกลงที่จะให้เราคืนรถให้ สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ของเราก็จะถือว่าสิ้นสุดลงตามกฎหมาย และเมื่อไฟแนนซ์นำรถไปขายทอดตลาดแล้วได้เงินมาน้อยกว่ายอดหนี้ที่เรามี คุณก็ไม่ต้องรับผิดชอบเงินส่วนนั้นด้วย เพราะถือว่าลูกหนี้ไม่ได้ทำผิดสัญญาเช่าซื้อ แต่ส่วนใหญ่แล้วกรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างน้อย หากเกิดเคสแบบนี้ขึ้น มักจะต้องดำเนินเรื่องในชั้นศาลต่อไปครับ
เลือกรีไฟแนนซ์รถยนต์ ลดดอกเบี้ย ลดค่าใช้จ่าย
สำหรับการขอรีไฟแนนซ์รถยนต์ เพื่อนๆ จะเลือกขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินเดิม หรือเจ้าใหม่ก็ได้ครับ โดยให้ดูเงื่อนไขสินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็น อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาผ่อน เปรียบเทียบว่าที่ไหนให้เงื่อนไขที่ดีกับเรากว่ากัน วิธีนี้จะช่วยให้คุณลดภาระค่าใช้จ่ายไปได้ส่วนหนึ่ง เพราะดอกเบี้ยลดลง ค่างวดที่ต้องผ่อนต่อเดือนก็ถูกลง สามารถนำเงินที่เหลือไปใช้ทำอย่างอื่นได้ และทำให้เรายังมีรถขับอีกด้วยครับ
สรุป
สำหรับใครที่รู้สึกว่าเงินในกระเป๋าเริ่มเบาตั้งแต่กลางเดือน ก็ให้ใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้นนะครับ เพราะคงเห็นแล้วว่า หากค้างค่างวดรถไว้นานๆ ไม่มีผลดีต่อเราเลยสักนิด และเมื่อเสียเครดิตไปแล้ว จะทำอะไรก็ยิ่งยุ่งยากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม หากหาเงินไม่ทันแล้วจริงๆ ก็ลองให้คุยไกล่เกลี่ยกับไฟแนนซ์ก่อน ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย จนให้ไฟแนนซ์ยึดรถยนต์ไป กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่เราต้องมาตามแก้อีกนะครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เงินติดล้อ และ TOYOTA ด้วยครับ