การเตรียม “เอกสารรีไฟแนนซ์บ้าน” เป็นขั้นตอนแรกที่คนอยากลดดอกเบี้ยบ้านจำเป็นต้องทำ แต่ด้วยความยุ่งยาก และไม่มีเวลา เลยทำให้หลายยอมแพ้ จนต้องไปรีเทนชั่น หรือยอมเสียดอกเบี้ยแพงๆ ไปฟรีๆ
จริงๆแล้วการเตรียมเอกสาร รีไฟแนนซ์บ้าน ไม่ได้ยุ่งยากขนาดนั้นครับ วันนี้ FINSTREET จะมาอธิบายให้คุณเข้าใจง่ายๆเอง !
หลักๆแล้วธนาคารจะขอเอกสารรีไฟแนนซ์บ้านคล้ายๆ กับการยื่นกู้สินเชื่อบ้านใหม่เลยครับ โดยจะประกอบด้วยเอกสาร 3 ส่วนได้แก่ เอกสารข้อมูลส่วนตัว, เอกสารแสดงสถานะการเงิน และเอกสารหลักประกัน เรามาดูทีละตัวกันเลยครับ
เอกสารรีไฟแนนซ์บ้าน มีอะไรบ้าง
1. เอกสารข้อมูลส่วนตัว
เอกสารรีไฟแนนซ์บ้านส่วนนี้ต้องเตรียมกันทุกคนครับ เพราะจะใช้ระบุตัวตนของคุณ โดยเอกสารข้อมูลส่วนตัวจะมีดังนี้
- สำเนาบัตรประชาชน หรือบัตรราชการ (ทั้งผู้กู้และคู่สมรส)
- สำเนาทะเบียนบ้านทุกหน้า (ทั้งผู้กู้และคู่สมรส)
- สำเนาทะเบียนสมรส / ทะเบียนหย่า (ถ้ามี)
- สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
- สำเนาใบมรณบัตร และทะเบียนสมรสของคู่สมรส (กรณีคู่สมรสเสียชีวิต)
2. เอกสารแสดงสถานะทางการเงิน
เอกสารแสดงสถานะทางการเงินแต่ละธนาคารมักจะขอไม่เหมือนกัน เพื่อที่จะทำไปพิจารณาสินเชื่อว่า สถานะทางการเงินของเราตรงกับเงื่อนไขของธนาคารหรือเปล่า โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ ผู้มีรายได้ประจำ และ เจ้าของกิจการ
กรณีผู้มีรายได้ประจำ หรือพนักงานบริษัท
ส่วนใหญ่แล้วธนาคารจะขอเอกสารสองตัวนี้อันใดอันหนึ่งก็ได้ หรือถ้าเรายื่นไปทั้งสองอันก็ดี โดยต้องใช้ “ฉบับล่าสุด” ส่วนใหญ่จะขอที่อายุไม่เกิน 2 เดือน
- หนังสือรับรองเงินเดือน เป็นเอกสารแสดงเงินเดือนหรือรายได้จากที่ทำงานเรา โดยต้องรับรองจากผู้มีอำนาจลงนาม หรือเจ้าของบริษัท เอกสารนี้จะเป็นรูปแบบกระดาษ A4
- สลิปเงินเดือน เป็นเอกสารที่แสดงการรับและจ่ายเงินเดือน ปกติแล้วบริษัทจะออกให้ทุกเดือน จะมีทั้งแบบคาร์บอน และแบบ A4 ซึ่งแบบคาร์บอนจะดูน่าเชื่อถือกว่า
หากต้องการรีไฟแนนซ์บ้าน สามารถไปขอเอกสารพวกนี้ที่ HR ของบริษัท ได้เลยครับ แนะนำให้ขอเผื่อไว้ยื่นหลายที่เลย เพราะบางธนาคารก็ต้องการตัวเอง บางธนาคารก็ขอเป็นสำเนา
เอกสารรีไฟแนนซ์บ้านส่วนนี้ แต่ละธนาคารมักจะขอสถานะย้อนหลังไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่จะขอ Statement ย้อนหลังที่ 3-6 เดือน หรือบางกรณีที่ได้รายได้เป็น commission อาจขอย้อนหลังถึง 12 เดือน
โดยสามารถขอสำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง หรือ Statement กับ ทางธนาคาร ที่เรารับเงินเดือนประจำจากบริษัทได้เลย
นอกจากนี้เอกสารรีไฟแนนซ์ส่วนแสดงสถานะการเงินที่บางธนาคารอาจขอเพิ่มเติมจะได้แก่ สำเนารับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือ ทวิ 50 อันนี้ต้องลองสอบถามธนาคารที่คุณยื่นให้ดีนะครับ
กรณีเจ้าของกิจการ หรือธุรกิจส่วนตัว
ในส่วนของเจ้ากิจการแต่ละธนาคาร จะมีเงื่อนไขและเอกสารที่ต่างกันไป สามารถไปคุยรายละเอียดกับทางธนาคารได้ แต่หลักเอกสารที่ใช้รีไฟแนนซ์สำหรับเจ้าของกิจการจะมีดังนี้
- สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน หรือใบทะเบียนการค้า ที่รับรองสำเนาโดยกระทรวงพาณิชย์ ส่วนจะใหญ่จะขอแบบลงวันที่ย้อนหลังไม่เกิน 3-6 เดือน และหนังสือแสดงหลักฐานการเสียภาษีเงินได้ (ถ้ามี) ส่วนกรณีเป็นบริษัทจำกัด ก็จะต้องมี สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
- สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง ส่วนใหญ่จะขอย้อนหลัง 6-12 เดือน ทั้งในนามบุคคล และกิจการ
3. เอกสารหลักประกัน
เอกสารหลักประกัน จะใช้เป็นเอกสารยืนยันความเป็นเจ้าของหลักประกัน โดยจะต้องขอเอกสารจากทั้งธนาคารเดิม และกรมที่ดิน โดยสิ่งที่ต้องเตรียมมีดังนี้
- สำเนาเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน หรือหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด โดยต้องใช้ขนาดเท่าตัวจริงทุกหน้า
- สำเนาสัญญากู้บ้าน โดยขอจากธนาคารเดิม
- สำเนาใบเสร็จรับเงินการผ่อนชำระเงินกู้บ้าน โดยขอจากธนาคารเดิม ส่วนใหญ่มักจะขอ 1-3 เดือน
- สำเนาหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้าง หรือ ใบอนุญาตปลูกสร้างบ้าน เช่น สำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน (ทด.13) หรือหนังสือสัญญาให้ที่ดิน (ทด.14 )
เอกสารรีไฟแนนซ์บ้าน ยื่นพร้อมกันหลายธนาคารได้ไหม?
หลายคนอาจกังวลว่า การยื่นเอกสารรีไฟแนนซ์ขอสินเชื่อหลายธนาคารพร้อมกัน จะส่งผลต่อการขอสินเชื่อหรือเสียเครดิตไหม
คำตอบคือ สามารถยื่นเอกสารรีไฟแนนซ์ พร้อมกันหลายธนาคารได้ ไม่ต้องกลัวจะมีผลต่อการขอสินเชื่อ เพราะเครดิตบูโรจะมีข้อมูลก็ต่อเมื่อมีการอนุมัติ และจดจำนองแล้วเท่านั้น ซึ่งข้อดีของการยื่นหลายๆ ธนาคารก็คือทำให้เราสามารถต่อรอง หรือเปรียบเทียบดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ได้ และไม่ต้องไปเตรียมเอกสารรีไฟแนนซ์หลายๆรอบ
สำหรับใครที่อยากเปรียบเทียบดอกเบี้ยธนาคารต่างๆ หรือไม่อยากติดต่อหลายๆธนาคารเอง สามารถปรึกษาและรีไฟแนนซ์บ้านผ่าน FINSTREET ได้ฟรี ไม่คิดค่าบริการเลยครับ
สรุป
เอกสารรีไฟแนนซ์บ้านจะประกอบด้วยเอกสาร 3 ส่วนคือ เอกสารข้อมูลส่วนตัว, เอกสารแสดงสถานะการเงิน และเอกสารหลักประกัน โดยเราสามารถเตรียมเอกสารเพื่อยื่นหลายๆ ธนาคาร เพื่อเปรียบเทียบทีเดียวได้ แม้จะต้องเตรียมเอกสารเยอะ แต่คุ้มค่ากับดอกเบี้ยบ้านที่ลดไปแน่นอนครับ