Home / บทความทั้งหมด / [สรุปง่ายๆ] ตั้งวงแชร์เล่นกันยังไง ผิดกฎหมายหรือเปล่า?

[สรุปง่ายๆ] ตั้งวงแชร์เล่นกันยังไง ผิดกฎหมายหรือเปล่า?

การเล่นแชร์ ผิดกฎหมายไหม เล่นยังไง

“การเล่นแชร์” เป็นวิธีการออมเงินและหมุนเงินแบบหนึ่ง ที่อยู่คู่กับบ้านเรามานานแล้ว แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้จักว่า วงแชร์คืออะไร เค้าเล่นกันยังไง ผิดกฎหมาย พรบ.หรือเปล่า แล้วพวกวงแชร์ออนไลน์ที่เจอกันบ่อยๆในช่วงนี้เป็น แชร์ลูกโซ่ หรือไม่ วันนี้ FINSTREET จะพาคุณไปหาคำตอบกันครับ !

การเล่นแชร์ คืออะไร ?

การเล่นแชร์เป็นที่รู้จักกันดีในสังคมไทย เพราะเป็นการได้มาซึ่งเงินก้อนโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาสินเชื่อจากธนาคารหรือบริษัทสินเชื่อ ไม่ต้องใช้เอกสารการกู้เงินอย่าง สลิปเงินเดือน และไม่ต้องมีหลักค้ำประกันอะไรเลย

ที่เป็นอย่างนั้นเพราะว่า การเล่นแชร์เป็นการลงทุนที่อาศัย ความไว้เนื้อเชื่อใจของคนในวงแชร์ โดยคนในวงแชร์จะเป็นใครก็ได้ เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือเพื่อน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายๆ ที่เรียกว่าการเล่นแชร์​คือการลงทุนเพราะคุณได้ผลตอบแทนในตอนท้าย

และเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ เข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น ได้ลงทุนง่ายขึ้น ก็ตัดปัญหาการ กู้เงินนอกระบบ ที่ถึงแม้จะมีดอกเบี้ยสูงเทียนเท่ากัน แต่ก็ยังสบายใจกว่า เพราะเป็นการเล่นแชร์ ลงทุนในแชร์กับเพื่อนหรือคนรู้จักนั่นเอง

ตัวละครสำคัญที่ต้องมีในการเล่นแชร์

หลายคนอาจจะไม่เคยรู้จัก “การเล่นแชร์” มาก่อนแน่ๆ ดังนั้น FINSTREET จะมาพามารู้จักตัวละครสำคัญที่เกิดขึ้นในการเล่นแชร์กันครับ ท้าวแชร์คือใคร ลูกแชร์คือใคร เปียแชร์ยังไง ไปดูกันเลย!

ท้าวแชร์คือใคร มีหน้าที่อะไรในวงแชร์ ?

คนที่มีความสามารถในการรวบรวมเงินของสมาชิกในวงแชร์​ และจัดการกับเงินในวงแชร์ได้อย่างราบรื่น มีทักษะการจัดแจงเรื่องเงิน เช่น ถ้าเดือนนั้นเงินไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในกติกาของวงแชร์ ท้าวแชร์จะต้องออกเงินให้ก่อนเพื่อมีสำรองไว้ให้คนที่จะเปียแชร์

ดังนั้นหน้าที่นี้ต้องเป็นหน้าที่ของ คนที่ไว้ใจได้ เพราะดูแลเงินทั้งหมดตลอดระยะเวลาการเล่นแชร์

ลูกแชร์คือใคร มีหน้าที่อะไรในวงแชร์ ?

สมาชิกในวงแชร์ มีหน้าที่ส่งเงินลงเงินกองกลางเป็นงวดๆ โดยเงินนั้นสมาชิกทุกคนในวงแชร์สามารถเปียแชร์ได้ตามความต้องการ

เล่นแชร์ยังไง เปียแชร์คืออะไร แล้วใครจะได้ก่อนได้หลัง ?

หลังจากที่ได้ทำความรู้จักกับตัวละครหลักไปแล้ว ลำดับต่อไปคือการดูวิธีเล่นแชร์กันครับว่าเขาเล่นแชร์กันยังไง แล้วการเปียแชร์คืออะไร ใครจะได้เงินก่อนได้หลัง มีหลักเกณฑ์อย่างไร เพื่อให้เข้าใจแบบเห็นภาพมากขึ้น ของอธิบายเป็นฉากๆ ดังนี้ครับ

ฉากที่ 1 : จับกลุ่มตั้งวงแชร์​

นางสาวเอ อยากได้เงินก้อน จึงสอบถามกับเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนในที่ทำงานว่าอยากเล่นแชร์กันไหม มาลงทุนเล่นแชร์กันเถอะ อย่างน้อยก็จะได้มีเงินก้อนมาใช้ ซึ่งนางสาวเอจึงทำการรวบรวมเพื่อนทั้งหมด 5 คน โดยสมาชิกในวงแชร์ประกอบไปด้วย นางสาวเอ นางสาวบี นางสาวซี นางสาวดี และนางสาวอี

ฉากที่ 2 : ตกลงหาว่าใครจะเป็นท้าวแชร์ ใครจะเป็นลูกแชร์

เมื่อสมาชิกในการเล่นแชร์ครบแล้ว ทุกคนต่างก็คัดสรรว่าใครจะรับหน้าที่เป็น “ท้าวแชร์” โดยมิติเอกฉันท์ลงชื่อว่าให้นางสาวอีเป็นท้าวแชร์ เพราะทั้ง 5 คนรู้จักกันมานาน และรู้ว่านางสาวอีมีความรับผิดชอบเรื่องเงินและไว้ใจได้ ส่วน 4 คนที่เหลือ ก็อยู่ในสถานะลูกแชร์ที่ต้องส่งเงินทุกงวด

ฉากที่ 3 : เริ่มกำหนดกติการส่งเงินลงกองกลาง

หลังจากนั้นทั้ง 5 คนจึงเริ่มกำหนดกติกาว่า ทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน ทุกคนในวงแชร์จะต้องลงเงินกองกลางจำนวน 2,000 บาท เป็นระยะเวลา 5 เดือน และคุยกันว่า จะจ่ายดอกเบี้ยอย่างไร เพราะดอกเบี้ยเงินแชร์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบคือ

• ดอกเบี้ยเงินแชร์แบบหัก

ดอกเบี้ยแบบหักสำหรับการเล่นแชร์ หมายถึงว่า คนเปียแชร์จะได้เงินก้อนนั้นแบบไม่เต็มจำนวน เพราะถูกหักไปแล้ว โดยดอกเบี้ยที่ถูกหักออกมาจะมาจ่ายให้ลูกแชร์คนอื่นๆ และในเดือนต่อๆ ไปที่เหลือคนที่เปียแชร์ได้ก็ส่งเงินตามปกติ

• ดอกเบี้ยเงินแชร์แบบตาม

ดอกเบี้ยแบบตามสำหรับการเล่นแชร์ หมายถึงว่า คนเปียแชร์จะได้เงินก้อนนั้นเต็มจำนวน แต่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยตามหลังไปในทุกๆ เดือนจนกว่าจะหมดรอบของการส่งเงินแชร์ลงกองกลาง

ซึ่งดอกเบี้ยเงินแชร์ทั้งสองแบบจะช่วยให้การจ่ายเงินลงกองกลางของสมาชิกในวงแชร์ไม่ติดขัด เช่น ท้าวแชร์อาจเสนอว่าคิดดอกเบี้ยเงินแชร์แบบหักดีกว่า เพราะเดือนต่อๆ ไปจะได้ไม่ต้องกังวลว่าจะส่งเงินไม่ไหว

ดังนั้น ก่อนจะเริ่มเปียแชร์ต้องคุยเรื่องนี้กันด้วย ว่าอยากให้คิดดอกเบี้ยแบบไหน แล้วใช้เหมือนกันทั้งวงแชร์ แล้วเขียนตารางการเล่นแชร์ขึ้นมา เพื่อจดว่าใครจะได้เปียแชร์มือแรก มือสอง หรือมือสุดท้ายครับ

ฉากที่ 4 : สมาชิกในวงแชร์เริ่มส่งเงินเดือนแรก

อย่างที่กล่าวไปว่าต้องส่งแชร์ทั้งหมด 5 เดือนใช่ไหมครับ (เนื่องจากมีสมาชิกในวงแชร์​ 5 คน) ดังนั้น ในเดือนแรกลูกแชร์ทั้ง 4 คน และท้าวแชร์อีก 1 คนต้องส่งเงินลงกองกลางคนละ 2,000 บาท  จะรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,000 บาทต่อเดือน หากถามว่าท้าวแชร์ได้อะไร คำตอบคือ อภิสิทธิ์ในการได้ใช้เงิน 10,000 บาทก้อนแรกก่อน แลกกับการดูแลเงินที่เหลือในกองกลางครับ

ฉากที่ 5  : ลูกแชร์ขอเปียแชร์ต้องทำยังไง

เป้าหมายในการเล่นแชร์ คือการได้เงินก้อนมาใช้ ดังนั้น การเปียแชร์เลยเป็นหัวใจสำคัญของการเล่นแชร์ แต่การเปียแชร์ที่ลูกแชร์สามารถทำได้จะเริ่มขึ้นในเดือนที่ 2 นะครับ เพราะเดือนแรกเงินก้อนนั้นเป็นของท้าวแชร์ไปแล้ว

วิธีการเปียแชร์ก็ง่ายมาก คนที่ต้องการเงินก้อนให้เสนอดอกเบี้ยที่ยอมจ่ายให้กับท้าวแชร์ได้รู้ แต่ในเดือนนั้นก็ไม่ได้มีแค่ลูกแชร์คนเดียวที่ต้องการเงิน อาจมีถึง 2 คนด้วยกัน เช่น นางสาวเอกับนางสาวบีอยากได้เงินก้อน

ดังนั้น ลูกแชร์ห้ามบอกดอกเบี้ยที่พร้อมจ่ายหลังจากเปียแชร์ได้แล้วให้คนอื่นรู้ เพราะถ้าคู่แข่งรู้ก็จะสามารถเอาชนะการแย่งชิงเงินก้อนในเดือนนั้นได้แบบง่ายๆ  ถ้าใครเสนอดอกเบี้ยที่สูงกว่าก็มีถือเป็นผู้ชนะและได้เงินก้อนนั้นไป โดยวงแชร์นี้ที่มีนางสาวอีเป็นท้าวแชร์ มีคนเสนอดอกเบี้ยคือ

  1. นางสาวเอ พร้อมจ่ายดอกเบี้ยหลังเปียแชร์ได้ 40 บาท
  2. นางสาวบี พร้อมจ่ายดอกเบี้ยหลังเปียแชร์ได้ 40 บาท

ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะหาคนชนะยังไงใช่ไหมล่ะครับ วิธีที่ง่ายที่สุดที่คือการจับฉลาก เขียนชื่อของลูกแชร์ลงไป จับได้ใครคนนั้นก็ได้เงิน คนไม่ได้เงิน ดอกเบี้ยที่เสนอไปก็ถือว่าเป็นโมฆะครับ นี่เป็นการเล่นแชร์ที่แฟร์เกมสุดๆ เลย

ฉากที่ 6 : คนเปียแชร์เริ่มจ่ายเงินประจำเดือนพร้อมดอกเบี้ย

ถ้าวงแชร์เลือกจ่ายดอกเบี้ยแบบหัก หมายถึงว่า นางสาวเอที่เปียแชร์มือแรกจะได้เงินก้อนนั้นจำนวน 9,880 บาท พราะถูกหักดอกเบี้ย 120 บาทโดยแบ่งออกไปจ่ายให้ลูกแชร์ 3 มือที่เหลือคนละ 40 บาท

แต่ถ้าวงแชร์เลือกการจ่ายดอกเบี้ยแบบตาม หมายความว่า นางสาวเอจะต้องจ่ายค่าแชร์ 2,000 บาทต่อเดือนและจ่ายเพิ่มอีก 40 บาทที่เป็นดอกเบี้ยไปจนกว่าจะหมดรอบของวงแชร์นั้นๆ ครับ

ฉากที่ 7 :  คนเปียแชร์คนต่อไปก็ทำตามในวิธีเดียวกัน

เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 3 ลูกแชร์อย่างนางสาวบีก็ยังคงร้อนเงิน และนางสาวซีก็อยากได้เงิน ทั้งคู่มีความตั้งใจอยากเปียแชร์ ดังนั้น จึงต้องบอกดอกเบี้ยที่อยากจ่ายในรอบนี้ให้กับท้าวแชร์อย่างนางสาวอีได้รับรู้ ซึ่งดอกเบี้ยในแต่ละรอบไม่จำเป็นจะต้องเท่ากัน เพราะการคิดดอกเบี้ยจะคิดเป็นรอบ ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเท่าเดิม รอบนี้จึงมีการเสนอดอกเบี้ยเงินแชร์ คือ

  1. นางสาวบีเสนอดอกเบี้ยเงินแชร์ไป 20 บาท
  2. นางสาวซีเสนอดอกเบี้ยเงินแชร์ไป 25 บาท

ผู้ที่ได้เงินก้อนไปคือนางสาวซี และทุกคนที่เหลือก็ทำวิธีเดียวกันในทุกรอบจนกว่าจะได้เปียแชร์มือสุดท้าย โดยคนเปียแชร์มือสุดท้ายจะได้ดอกเบี้ยทั้งหมดตั้งแต่เริ่มเล่นแชร์มาครับ

เล่นแชร์ดีไหม? แล้วท้าวแชร์ได้อะไร ลูกแชร์ได้อะไร?

อ่านถึงตรงนี้ คุณคงกำลังชั่งใจอยู่ว่าจะเล่นแชร์ดีไหม เพราะอยากได้เงินก้อนมาหมุนในชีวิตประจำวัน FINSTREET ขอตอบให้เลยว่า “เล่นก็ดี ไม่เล่นก็ได้” เพราะอยู่ที่คุณว่าจะสามารถรับมือกับปัญหาและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังได้หรือไม่ เช่น ท้าวแชร์หนี ท้าวแชร์ไม่จ่ายเงิน

จึงได้บอกไปตั้งแต่ต้นเลยครับว่า การเล่นแชร์ต้องเล่นกับคนที่รู้จักมักจี่กันอยู่แล้ว และคนที่จะเป็นท้าวแชร์ต้องไว้ใจได้ เพราะคือคนที่ดูแลทั้งหมดของลูกแชร์​ จะให้ใครมาเป็นท้าวแชร์แบบสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้เลย เพราะเดี๋ยวได้เกิดเรื่องอย่างที่กังวลขึ้น

เป็นท้าวแชร์แล้วได้อะไร ?

การเป็นท้าวแชร์จะได้อภิสิทธิ์ในการมีเงินก้อนก่อนใครในวงแชร์ ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย แต่ต้องแลกมากับการรับผิดชอบเงินในวงแชร์ให้หมุนได้โดยไม่ติดขัด แล้วที่สำคัญถ้าลูกแชร์หนี ท้าวแชร์ก็ต้องรับผิดชอบ

เป็นลูกแชร์แล้วได้อะไร ?

ลูกแชร์ไม่ต้องแบกรับการดูแลเงินทั้งหมด มีหน้าที่ส่งเงินให้ตรงตามเวลาทุกเดือน แต่ต้องแลกกับการจ่ายดอกเบี้ยเงินแชร์ และคนเปียแชร์มือสุดท้ายจะได้ดอกเบี้ยทั้งหมด คือ บุคคลที่ได้รับผลตอบแทนอันคุ้มค่าจากการเล่นแชร์

ซึ่งดอกเบี้ยก็มาจากคนเปียแชร์คนก่อนๆ นั่นเอง นี่จึงเป็นการลงทุนในเงินแชร์ครับ แต่วิธีนี้จะเหมาะสำหรับคนที่ไม่ร้อนเงินมาก ไม่ได้อยากได้เงินด่วนสักเท่าไหร่

การเล่นแชร์ ผิดกฎหมายไหม ?

การเล่นแชร์ผิดกฎหมายไหม มีอะไรมารองรับการเล่นแชร์บ้าง ขอตอบเลยว่า การเล่นแชร์ไม่ผิดกฎหมาย หากไม่ทำเกินกว่าที่ พ.ร.บ.การเล่นแชร์​ พ.ศ.2543 กำหนดเอาไว้

โดยการเล่นแชร์ที่  พ.ร.บ.การเล่นแชร์​ พ.ศ.2543 ให้ความหมายเอาไว้ คือ “การเล่นแชร์ที่มีคนตั้งแต่สามคนขึ้นไป ตกลงกันว่าจะเป็นสมาชิกในวงแชร์ โดยแต่ละคนมีหน้าที่ส่งเงินหรือทรัพย์สินเอาไว้กองกลางเป็นงวดๆ เพื่อให้คนตั้งแต่สามคนขึ้นไปที่เป็นสมาชิก สามารถนำเงินออกมาหมุนเวียนใช้จ่ายได้

เล่นแชร์ให้ถูกกฎหมาย ต้องยึดตามข้อกำหนด พ.ร.บ.การเล่นแชร์

เพื่อให้การเล่นแชร์ถูกกฎหมาย ไร้มลทิน ไม่ต้องกังวลว่าจะโดนจับเข้าคุกเข้าตารางหรือเสียค่าปรับ ยังมีเนื้อความในพระราชบัญญัติ ที่กำหนดเอาไว้ว่า หากจะเล่นแชร์ ต้องทำตามเงื่อนไข ดังนี้

  • ห้ามเป็นนายวงแชร์​หรือท้าวแชร์รวมกันมากกว่า 3 วง
  • มีจำนวนสมาชิกในวงแชร์ทุกวงรวมกันไม่เกิน 30 คน
  • มีเงินทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันไม่เกิน 300,000 บาท
  • นายแชร์​หรือท้าวแชร์ ห้ามโฆษณาเชิญชวนหรือโพสต์ข้อความชวนให้เล่นแชร์

โทษปรับหากฝ่าฝืน กฎหมายแชร์

แม้จะมี พ.ร.บ.การเล่นแชร์​ พ.ศ.2543 รองรับการเล่นแชร์อยู่ ก็อย่าได้ชะล่าใจไปเลยครับ เพราะมีกฎหมายแชร์​ จึงต้องมีการต้องโทษทางกฎหมาย เพื่อไม่ให้คนในวงแชร์​ทั้งนายวงแชร์​ หรือลูกแชร์ฝ่าฝืน

ซึ่งการต้องโทษคือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ท้าวแชร์ไม่จ่าย ท้าวแชร์หนี แจ้งความได้ไหม?!

ความเสี่ยงในการเล่นแชร์​ คือ การที่ท้าวแชร์ไม่จ่าย หรือท้าวแชร์หนี ทำให้เงินลงทุนของคุณปลิวหายไปในพริบตา ซึ่งคุณสามารถแจ้งความได้ หากท้าวแชร์หนีไป โดยสามารถแบ่งออก ได้ดังนี้ 

แชร์ล้ม เปียเงินไม่ได้

ท้าวแชร์ไม่ได้หนี แต่ท้าวแชร์ไม่ได้จ่าย ด้วยเหตุผลที่ว่าหมุนเงินไม่ได้แล้ว ลูกแชร์สามารถหาทนายความเพื่อฟ้องร้องท้าวแชร์เพื่อขอเงินคืนได้เลยครับ เพราะนี่เป็นคดีความอาญา โดยให้ลูกแชร์คนอื่นๆ เป็นพยานได้ เพราะในการเล่นแชร์ตอนแรกไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้เพราะว่าไว้ใจกันนั่นเอง

ท้าวแชร์หนี ระวังติดคุก

ท้าวแชร์หนีตั้งแต่เปียแชร์ได้มือแรก ถือว่าเข้าข่ายหลอกลวงให้มีผู้ลงทุนจำนวนมาก แล้วนำเงินหนีไปตั้งแต่สามารถแจ้งความกับเจ้าหน้าที่เป็นคดีอาญาฐานฉ้อโกงได้เลยครับ

โดยลูกแชร์สามารถแจ้งตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีแก่ท้าวแชร์ได้เลย แล้วท้าวแชร์ก็จะได้หมายเรียกคดีแชร์อีกด้วย ซึ่งท้าวแชร์จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การเล่นแชร์ เหมือนกับการเล่นแชร์ลูกโซ่ไหม?

แชร์ลูกโซ่ คือ ธุรกิจเครือข่ายที่จะหายได้จากการระดมทุนของคนในกลุ่มนั้น โดยมีทริคหลอกให้ตายใจว่า จะนำเงินนั้นไปลงทุนเพื่อให้ได้กำไรงอกเงย แล้วจะนำเงินมาคืนในจำนวนที่มากกว่าเดิม

แต่ความจริงของแชร์ลูกโซ่คือ “การชวนคนใหม่ๆมาลงทุนเรื่อยๆ” แล้วนำเงินของคนใหม่มาหมุนเวียนให้คนเก่า เกิดลูปนี้ซ้ำไปมา ส่งต่อเงินกันเป็นทอดๆ จึงเรียกวิธีนี้การเล่นแชร์ลูกโซ่ครับ

กลุ่มวงแชร์ออนไลน์​ ผิดกฎหมาย พ.ร.บไหม?

ด้วยยุคที่เทคโนโลยีเป็นใจขนาดนี้ การเล่นแชร์แบบ face to face เห็นตัวเป็นๆ รู้จักกันจริงๆ ก็คงจะล้าหลังไปแล้ว ดังนั้น จึงมีวิธีเล่นแชร์แบบใหม่ที่เรียกว่า กลุ่มวงแชร์ออนไลน์ ที่เล่นแชร์ออนไลน์ผ่าน Facebook หรือ เข้ากลุ่มแชร์ไลน์ ที่ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของมุมโลกก็สามารถเป็นลูกแชร์ได้แบบสบายๆ

แต่การเล่นแชร์ออนไลน์ผ่าน Facebook หรือเข้ากลุ่มไลน์แชร์​  “ผิดกฎหมาย” การเล่นแชร์​แบบเต็มๆ เลยครับ

เพราะนี่เป็นการชี้ชวนให้ประชาชนให้มีการเล่นแชร์ออนไลน์ ซึ่งขัดกับ กฎหมายการเล่นแชร์​ พ.ศ.2543 ในเงื่อนไขที่ว่า “นายแชร์​หรือท้าวแชร์ ห้ามโฆษณาเชิญชวนหรือโพสต์ข้อความชวนให้เล่นแชร์” 

รวมไปถึง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ออกมาแจ้งเตือนประชาชนว่า ให้ระวังการเชิญชวนให้เล่นแชร์ออนไลน์ผ่าน Facebook หรือชวนเข้ากลุ่มแชร์ไลน์​ เพราะอาจแฝงตัวมาในรูปแบบของแชร์ลูกโซ่ครับ

ดังนั้น กลุ่มวงแชร์ออนไลน์ ชวนเล่นแชร์ใน Facebook หรือ ชวนเล่นแชร์ในกลุ่มไลน์​ ผิดกฎหมายการเล่นแชร์แน่นอน และต้องโทษปรับสูงสุด 50,000 บาทครับ

สรุป

การเล่นแชร์ คือการกู้เงินระยะสั้นกับคนที่รู้จักกัน ใช้ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายๆ หรือจะเรียกว่าการลงทุนก็ไม่ผิดครับ เพราะคนเปียแชร์ได้ผลตอบแทนทุกคน ซึ่งการเล่นแชร์จะไม่ผิดกฎหมายหากไม่ทำเกินกว่าที่ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ กำหนดเอาไว้ ซึ่งสมาชิกแต่ละคนในวงแชร์ก็มีหน้าที่รับผิดชอบต่างกันไป ท้าวแชร์คือผู้ดูแล ลูกแชร์คือผู้กู้ หากท้าวแชร์หนี ท้าวแชร์ไม่จ่ายเงิน ลูกแชร์ก็สามารถแจ้งความได้เลย เพราะมีโทษตามกฎหมายการเล่นแชร์รองรับอยู่ครับ

Let us know who you are

Tell Us more about your project

When do you want to talk?

Select your preferable date under the next 4 weeks period