1 ในความฝันของใครหลายๆ คนคือการได้ ‘ซื้อรถคันแรก’ เป็นของตัวเอง เพราะรถยนต์เป็นสิ่งที่บ่งบอกฐานะทางสังคมและยังช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง แต่การออกรถยนต์สักคันนั้น มือใหม่อาจไม่ทราบว่าต้องเตรียมตัวยังไง ใช้เอกสารอะไรบ้าง วันนี้พี่โอกาสมีคำตอบมาให้ทุกคนแล้วครับ ตามไปอ่านกันเลย
อยากซื้อรถคันแรก มือใหม่ต้องรู้อะไรบ้าง
การซื้อรถคันแรกให้ตัวเอง ไม่ได้มีเพื่อความต้องการและความชอบส่วนตัวเท่านั้น แต่ตามมาด้วยหนี้ก้อนใหญ่ที่เราต้องทยอยจ่าย หากวางแผนไม่ดีก็ต้องมามัวกังวลในอนาคต ดังนั้น มือใหม่จำเป็นต้องทราบว่ามีอะไรบ้างที่เราต้องรู้ก่อนจะซื้อรถยนต์สักคัน พี่โอกาสได้รวบรวมข้อมูลที่ควรรู้มาให้แล้ว ทั้งค่าใช้จ่าย เอกสารที่ต้องเตรียม รวมถึงข้อสงสัยอื่นๆ ด้วย รับรองว่าได้รถยนต์ที่เหมาะกับตัวเองสมใจอยากแน่นอนครับ
ถามตัวเองว่า ซื้อรถคันแรก จำเป็นจริงๆ ไหม
ก่อนที่จะไปอ่านข้อมูลที่ควรรู้ติดตัว ลองกลับมาถามตัวเองก่อนว่าเหตุผลที่จะซื้อรถคันแรกนั้น แค่อยากได้เฉยๆ หรือจำเป็นต้องใช้งานจริงๆ ซึ่งหากเราไม่ได้มีปัญหาด้านการเงินอะไร มั่นใจว่าผ่อนจ่ายไหว ข้ามข้อนี้ไปได้เลยครับ แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือนคนไหนที่มีภาระต้องจัดการเยอะ ทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าบ้าน ค่ากิน คงต้องพิจารณาให้ดีอีกที เพราะหากซื้อมาแล้วผ่อนรถไม่ไหว จะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ครับ
เช็กประเภทรถที่อยากได้ก่อนซื้อรถคันแรก
เลือกยี่ห้อ รุ่นรถ ประเภทรถที่ต้องการไว้ก่อน เพื่อให้ทราบค่ารถคร่าวๆ และคำนวณเงินค่างวดไว้ล่วงหน้านอกจากนี้ ควรพิจารณาด้วยว่า มีศูนย์บริการใกล้บ้านหรือเปล่า เผื่อเกิดปัญหาใดๆ จะได้เข้าศูนย์ซ่อมได้ทันทีครับ และอย่าลืมทดลองขับก่อนด้วยว่าขับจริงแล้วรู้สึกยังไง ห้องโดยสารกว้างไปหรือเปล่า ขนาดรถตรงกับเท่าที่เราต้องการไหม เพื่อเป็นตัวช่วยเลือกซื้อรถคันแรกให้ถูกใจที่สุดนั่นเอง
คำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อรถคันแรก
หลังจากสำรวจความต้องการของตัวเองแล้ว สิ่งที่ต้องทราบต่อไปคือการซื้อรถคันแรก ไม่ได้มีค่ารถเท่านั้นที่เราต้องคำนวณ แต่ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายอีกมากมายที่จำเป็นต้องรู้และเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า เพื่อให้มีเงินพอจ่ายและไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต จะมีอะไรบ้าง แล้วแต่ละอย่างต้องจ่ายเท่าไหร่ ตามไปดูกันเลยครับ
เงินดาวน์
หากไม่มีเงินสดเพื่อซื้อรถคันแรกแบบเต็มราคา เราจำเป็นต้องวางเงินดาวน์หรือเงินก้อนที่เราต้องจ่ายล่วงหน้าก่อนซื้อรถยนต์ โดยจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะวางเงินดาวน์อยู่ที่ 15 – 25% ของราคาเต็ม ซึ่งหากเราวางเงินดาวน์ 20% ขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องมีคนค้ำประกันและขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินง่ายขึ้น สิ่งที่ควรรู้คือ ยิ่งวางเงินดาวน์เยอะเท่าไหร่ ค่างวดที่ต้องจ่ายก็จะน้อยลงตามไปด้วย เพราะเงินดาวน์จะถูกนำไปหักลบกับเงินต้นที่เป็นค่ารถยนต์ เท่ากับว่าเราจ่ายดอกเบี้ยน้อยลง ทำให้ผ่อนสบายมากขึ้นนั่นเอง
ค่าภาษีรถยนต์
เป็นค่าใช้จ่ายรายปีที่เจ้าของรถต้องชำระให้กับกรมขนส่งทางบก คำนวณจากขนาดความจุของกระบอกสูบตามที่ปรากฏในทะเบียนรถยนต์ วิธีคำนวณด้านล่างนี้เป็นของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่งครับ
- กำลังเครื่องยนต์ 600 cc แรก: ซีซี ละ 0.5 บาท
- 600 – 1,800 cc: ซีซี ละ 1.50 บาท
- ตั้งแต่ 1,800 cc ขึ้นไป: ซีซี ละ 4 บาท
ค่างวด
เป็นค่าใช้จ่ายที่มือใหม่อยากซื้อรถคันแรกควรให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะเป็นค่าใช้จ่ายระยะยาวและเราต้องอยู่กับมันไปอีกหลายปี ค่างวดเป็นเงินที่เราต้องจ่ายต่อเดือนตามสัญญา จำนวนงวดที่คนนิยมจ่ายกันจะอยู่ที่ 48 เดือน (ประมาณ 4 ปี) หรือ 60 เดือน (ประมาณ 5 ปี) แล้วแต่ความสามารถในการผ่อนจ่ายของแต่ละคน ซึ่งถ้าเราวางเงินดาวน์ไปจำนวนหนึ่งแล้ว ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปได้เยอะเลยครับ
สูตรคำนวณค่างวด
- ยอดจัดไฟแนนซ์ = ราคารถยนต์ – เงินดาวน์
- ดอกเบี้ยรถยนต์ = ยอดจัดไฟแนนซ์ x เปอร์เซ็นต์อัตราดอกเบี้ย (เช่น 5% หรือ 6% โดยอัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับศูนย์จัดจำหน่ายและระยะเวลาการผ่อน)
- ดอกเบี้ยทั้งหมดที่ต้องจ่าย = (ยอดจัดไฟแนนซ์ + ดอกเบี้ยรถยนต์) / กับจำนวนปีที่ต้องการผ่อน
- ยอดทั้งหมดที่ต้องจ่ายจริง = ดอกเบี้ยทั้งหมดที่ต้องจ่าย + ยอดจัดไฟแนนซ์
- ค่างวดในแต่ละเดือน = นำยอดทั้งหมดที่ต้องจ่ายจริง / จำนวนเดือนที่ผ่อน (48 เดือน หรือ 60 เดือน)
อีกทริคที่มือใหม่ควรรู้ไว้คือ ยิ่งผ่อนค่างวดหมดเร็ว ดอกเบี้ยก็ยิ่งต่ำลงไปด้วย ทั้งนี้ ดอกเบี้ยเงินกู้ของแต่ละธนาคารไม่เท่ากัน วางเงินดาวน์เยอะ กู้ธนาคารน้อยลง ดอกเบี้ยก็น้อยลงด้วยครับ
ค่าบำรุงรักษา
แน่นอนว่ารถยนต์ย่อมเสื่อมสภาพตามกาลเวลา ดังนั้น ต้องมีค่าบำรุงรักษารถทุกๆ 10,000 กิโลเมตร ไม่ว่าจะเป็น ค่าเช็กระยะรถยนต์ ค่าเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง หากส่วนไหนเสียหาย ก็ต้องซ่อมเพิ่มเติม ซึ่งจำนวนเงินจะแตกต่างกันไปตามยี่ห้อรถ รุ่นรถ สภาพการใช้งาน ค่าใช้จ่ายมักจะอยู่ที่ 5,000 – 15,000 บาทต่อปีครับ
ค่าประกันภัย พ.ร.บ.
เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทำประกันภัยรถภาคบังคับ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ซึ่งกฎหมายบังคับว่ารถทุกคันต้องทำ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับเจ้าของรถและผู้ประสบภัย ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 600 บาทต่อปี (รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง) หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น บริษัทจะชดใช้ให้ผู้ประสบภัยภายใน 7 วัน นับแต่บริษัทได้รับคำร้องขอค่าเสียหาย โดยค่าเสียหายเบื้องต้นมีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้ครับ
- กรณีเกิดอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บ: ค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 30,000 บาท
- ผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อร่างกาย (สูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ): ค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาทต่อคน
- กรณีเสียชีวิต: ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการศพ 35,000 บาทต่อคน
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ
- ค่าประกันรถยนต์ชั้น 1: บริษัทไฟแนนซ์ส่วนใหญ่มักจะให้ทำประกันรถยนต์ชั้น 1 เอาไว้ ป้องกันกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต เฉลี่ยค่าเบี้ยประกันรถที่ต้องจ่ายเริ่มต้นประมาณ 7,500 – 10,000 บาทครับ
- ค่ามัดจำป้ายแดง: ตอนที่ออกรถยนต์ เจ้าของรถจะได้ใช้ทะเบียนป้ายแดงเป็นการชั่วคราวระหว่างรอจดทะเบียนป้ายขาว ดังนั้น เราต้องจ่ายเงินมัดจำประมาณ 2,000 – 3,000 บาท และได้เงินคืนเมื่อนำทะเบียนป้ายแดงมาคืนครับ
- ค่าน้ำมัน: ค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 2,000 – 4,000 บาท
- ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%: ค่าใช้จ่ายนี้สำหรับผู้ซื้อรถยนต์มือสอง เช่น รถยนต์มือสองราคา 300,000 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ที่ 21,000 บาท เท่ากับรถคันนี้มีมูลค่าจริงอยู่ที่ 321,000 บาทครับ
ซื้อรถคันแรก เงินสด หรือ เงินผ่อน ดีกว่ากัน
เป็นอีกคำถามที่หลายคนสงสัย ซึ่งแน่นอนว่าซื้อรถยนต์เงินสดย่อมดีกว่าเงินผ่อน เพราะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้กับธนาคารที่ต้องทยอยจ่ายเป็นหลักปี แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีเงินก้อนหลักแสน หลักล้านไปซื้อรถคันแรกได้ในทันที หลายคนจึงเลือกที่จะผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ มากกว่า ดังนั้น ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคนเลยครับ
ซื้อรถคันแรก ต้องมีเงินเท่าไหร่
คำถามนี้ไม่มีคำตอบตายตัว แต่ต้องดูว่าเรามีภาระค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed Cost) เท่าไหร่ ผ่อนจ่ายไหวหรือเปล่า โดยค่าผ่อนรถไม่ควรเกิน 20 – 30% ของเงินเดือนหรือรายได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริษัทไฟแนนซ์ว่าจะอนุมัติให้กู้หรือไม่ด้วยครับ สิ่งที่เราสามารถเตรียมตัวได้คือ วางแผนทางการเงินให้รอบคอบ รายการเดินบัญชี (Statement) ต้องดี เพื่อให้กู้ผ่านง่ายขึ้น ส่วนใครตัดสินใจได้แล้วว่าจะซื้อรถคันแรก แต่มีเงินไม่พอออกรถยนต์ป้ายแดง รถมือสองก็เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ครับ (อย่าลืมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยนะครับ)
เงินเดือน 15,000 บาท ซื้อรถได้ไหม
คำตอบคือได้ครับ แต่ตัวเลือกประเภทรถยนต์ก็อาจจะไม่ได้มีมากนัก เพราะจำเป็นต้องผ่อนจ่ายค่างวดที่ไม่สูงมากหรือไม่เกิน 4,500 บาท (30% ของเงินเดือน) ดังนั้น แนะนำให้เลือกรถที่มีราคาอยู่ที่ 300,000 – 600,000 บาท โดยเราสามารถผ่อนสบายมากขึ้นด้วยการวางเงินดาวน์ 30 – 40% ของราคารถครับ
อาชีพฟรีแลนซ์ ซื้อรถได้ไหม
อาชีพอิสระที่มีรายได้ไม่คงที่และไม่แน่นอน อาจสงสัยว่าจะซื้อรถคันแรกให้ตัวเองได้ไหม คำตอบคือได้ครับ เพียงแค่วางแผนการเงินให้ดีและเตรียมเอกสารให้ครบทุกฉบับ เพื่อให้ตอนยื่นกู้ไฟแนนซ์จะไม่เกิดปัญหาและผ่านได้ง่ายๆ นั่นเอง ใครที่สงสัยว่าต้องเตรียมอะไรยังไงบ้าง พี่โอกาสมีทริคเล็กๆ น้อยๆ มาฝากครับ
- ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นประจำ
- เก็บหลักฐานที่มาของรายได้ทั้งหมด เช่น หนังสือรับรอง สัญญาจ้าง ใบเสนอราคา เป็นต้น
- มีรายการเดินบัญชี (Statement) อย่างน้อย 6 เดือน
- มีเงินดาวน์ประมาณ 20 – 30% ของค่ารถ ยิ่งวางเงินดาวน์เยอะ ก็มีสิทธิ์กู้ไฟแนนซ์ผ่านเยอะขึ้นครับ
- มีคนค้ำประกัน โดยบุคคลนั้นควรทำงานประจำและมีเงินเดือนสูงกว่าค่างวดอย่างน้อย 3 เท่า
ไม่มีเงินดาวน์ ซื้อรถคันแรกได้ไหม
กรณีนี้เวลาขอกู้บริษัทไฟแนนซ์ส่วนใหญ่มักจะไม่ให้ผ่านครับ อย่างน้อยเราควรวางเงินดาวน์ขั้นต่ำที่ 5% ของราคารถและมีคนค้ำประกัน เพราะหากไม่มีเงินดาวน์เลย เท่ากับเราต้องกู้เพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยก็เพิ่มขึ้นตาม อาจจะอยู่ที่ร้อยละ 5 ขึ้นไป ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากทีเดียว หรือถ้าต้องการออกรถแบบฟรีดาวน์จริงๆ อาจจะได้แค่รถมือสองครับ ซึ่งก็ต้องลุ้นสภาพรถว่ายังดีอยู่ไหม แถมต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ไปด้วย
ซื้อรถคันแรก มีเอกสารอะไรบ้างที่ต้องเตรียม
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- หนังสือรับรองเงินเดือน
- หนังสือรับรองการทำงาน
- รายการเดินบัญชี (Statement) ย้อนหลัง 6 เดือน
- หนังสือค้ำประกัน
ซื้อรถคันแรก ลดหย่อนภาษีได้ไหม
หลายคนอาจสงสัยว่าซื้อบ้านสามารถลดหย่อนภาษีได้ แล้วถ้าซื้อรถล่ะ คำตอบคือ ค่ารถยนต์ ค่าเบี้ยประกันรถยนต์ส่วนบุคคล ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ครับ เพราะกฎหมายตามประมวลรัษฎากรกำหนดให้หักลดหย่อนได้เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยเท่านั้น ประกันรถยนต์ที่ไม่นับว่าเป็นปัจจัยพื้นฐาน จึงไม่ถูกนำมาคิดนั่นเอง ซึ่งประกันรถยนต์ที่สามารถลดหย่อนได้ ต้องเป็นรถที่จดทะเบียนในนามบริษัทหรือธุรกิจขนส่ง โดยสามารถนำค่าเบี้ยประกันรถยนต์ไปลดหย่อนภาษีเงินได้ภาคธุรกิจได้ครับ
สรุป
การซื้อรถยนต์สักคันเป็นทั้งทรัพย์สินก้อนใหญ่และหนี้สินก้อนใหญ่ในเวลาเดียวกัน เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ตามมาในอนาคตอีกมากมาย ลองพิจารณารายรับ-รายจ่ายของตัวเองให้รอบคอบ ว่าจ่ายไหวจริงๆ หรือเปล่า ไม่จำเป็นต้องรีบตัดสินใจ ค่อยๆ คิดและวางแผนทางการเงินให้ดี อย่าสร้างภาระให้ตัวเองนะครับ