Home / บทความทั้งหมด / ค่าประกันสังคม คืออะไร ทำไมต้องจ่าย คุ้มครองอะไรบ้าง

ค่าประกันสังคม คืออะไร ทำไมต้องจ่าย คุ้มครองอะไรบ้าง

ประกันสังคม คืออะไร ทำไมต้องจ่าย

เด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงานประจำ อาจมีคำถามว่า พอเงินเดือนออกปุ๊ป ทำไมรายได้ไม่เท่ากับที่ตกลงไว้ ถูกหักภาษีไม่พอ ยังต้องจ่ายให้ประกันสังคมทุกเดือนอีก! แล้ว ค่าประกันสังคม คืออะไร ทำไมต้องจ่าย จ่ายแล้วคุ้มไหม คุ้มครองอะไรบ้าง เงินเดือนเท่านี้ ต้องจ่ายเท่าไหร่ ตามมาหาคำตอบพร้อมกับพี่โอกาสกันเลยครับ

ประกันสังคม มาตรา 33 39 40

ค่าประกันสังคม คืออะไร ทำไมมนุษย์เงินเดือนต้องจ่าย

ค่าประกันสังคม เป็นสวัสดิการจากรัฐบาลที่มอบให้กับลูกจ้าง หรือเป็นการทำประกันกับรัฐบาลนั่นเอง โดยลูกจ้างและนายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบให้กับ กองทุนประกันสังคม ตามกฎหมาย เพื่อรับความคุ้มครองในกรณีเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุ สามารถใช้สิทธิรักษากับโรงพยาบาลที่เลือกไว้ได้ หรือรับเงินชดเชย กรณีเสียชีวิตหรือ ว่างงาน นอกจากนี้ ยังเป็นเงินเก็บส่วนหนึ่ง ไว้เป็น เงินเกษียณอายุ ด้วยครับ โดยเงินสมทบประกันสังคมแบ่งเป็น ลูกจ้าง 5% นายจ้าง 5% และรัฐบาล 2.75% ซึ่งคนที่เป็นพนักงานประจำก็จะถูกหักจากเงินเดือนไป 5% นั่นเองครับ

ค่าประกันสังคม มีกี่ประเภท

สำหรับใครที่เคยจ่ายประกันสังคมมาก่อน อาจจะพอคุ้นหู ผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างตามมาตรา 33 แต่จริงๆ แล้ว รูปแบบประกันสังคมมีสำหรับผู้ประกันตนทั้งหมด 3 ประเภทด้วยกัน จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลยครับ

  • ม.33 : ผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างตามมาตรา 33 คือ ลูกจ้าง พนักงานประจำ หรือพนักงานบริษัทเอกชน ที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปีล
  • ม.39 : ผู้ประกันตนที่สมัครใจตามมาตรา 39 หรือก็คือ บุคคลที่เคยมีสถานะเป็นลูกจ้างตามมาตรา 33 มาก่อนไม่ต่ำกว่า 12 เดือน, ลาออกมาไม่เกิน 6 เดือน และยังต้องการรักษาสิทธิเดิม ซึ่งผู้ประกันตามมาตรานี้สามารถแจ้งกับสำนักงานประกันสังคมภายในเวลา 6 เดือนหลังจากลาออกจากงาน และส่งเงินให้กับกองทุนประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปครับ
  • ม.40 : ผู้ประกันตนที่เป็นอิสระตามมาตรา 40 หรือบุคคลที่ประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ ค้าขาย หรือพ่อบ้านแม่บ้าน และมีอายุ 15 – 60 ปี โดยไม่มีสถานะเป็นผู้ประกันมาตรา 33 และ 39 มาก่อน

เงินเดือนเท่าไหร่ จ่ายประกันสังคมเท่าไหร่ 2567

เงินเดือนเท่านี้ ส่งเงินสมทบประกันสังคมเท่าไหร่ อัปเดตปี 2567

แต่ละคนก็เป็นผู้ประกันตามมาตราที่ไม่เหมือนกัน มาดูกันครับว่าแต่ละมาตราต้องจ่ายเงินประกันสังคมเท่าไหร่

ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ส่งเงินสมทบประกันสังคมเท่าไหร่

อัตราเงินสมทบที่ต้องนำส่งกองทุนประกันสังคมจะอยู่ที่ 5% จากเงินเดือน โดยขั้นต่ำอยู่ที่ 83 บาทต่อเดือน และสูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน คำนวณจากฐานค่าจ้างต่ำสุดคือ เดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งโดยปกติแล้วนายจ้างจะเป็นคนนำส่งเงินให้แทนครับ

ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ส่งเงินสมทบประกันสังคมเท่าไหร่

ต้องส่งเงินสมทบเดือนละ 432 บาทติดต่อกันทุกเดือน หากไม่ส่งเงินติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน หรือในเวลา 1 ปี ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน จะถือว่าสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ครับ

ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ส่งเงินสมทบประกันสังคมเท่าไหร่

สำหรับผู้ประกันในมาตรานี้ สามารถเลือกส่งได้ทั้งหมด 3 แผน ได้แก่ 70 บาท/เดือน หรือ 100 บาท/เดือน หรือ 300 บาท/เดือน ซึ่งสิทธิประกันสังคมก็จะแตกต่างกันไปตามอัตราเงินสมทบที่จ่ายนั่นเองครับ

ลูกจ้าง ม.33 อาจต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมเพิ่ม!

ก่อนหน้านี้ประกันสังคมได้เปิดรับความคิดเห็นจากประชาชนจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ในประเด็นปรับเพดานเงินเดือนขั้นสูงขึ้นจาก 15,000 เป็นสูงสุด 23,000 บาท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2567-2573 ทำให้ลูกจ้างตามมาตรา ม.33 ต้องจ่ายค่าประกันสังคมที่ปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอัตราเพดานค่าจ้างที่สูงขึ้น ดังนั้น จากที่เคยจ่าย 750 บาท ก็ต้องเป็น 1,150 บาท หากกฎหมายกระทรวงฉบับนี้ถูกประกาศใช้งานจริง ซึ่งผู้ประกันตน ม.33 ก็จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นไปด้วย รายละเอียดก็มีดังนี้เลยครับ

  • พ.ศ. 2567 – 2569 ผู้ประกันตน ม.33 ที่เงินเดือนมากกว่า 17,500 บาท จ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 875 บาท
  • พ.ศ. 2570 – 2575 ผู้ประกันตน ม.33 ที่เงินเดือนมากกว่า 20,000 บาท จ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,000 บาท
  • ตั้งแต่ พ.ศ. 2573 ผู้ประกันตน ม.33 ที่เงินเดือนมากกว่า 23,000 บาท จ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,150 บาท

 สิทธิประกันสังคมมาตรา 33 มีอะไรบ้าง คุ้มครองอะไรบ้าง 2567

สิทธิประกันสังคมมาตรา 33 มีอะไรบ้าง

แน่นอนว่าเงินที่ส่งไปให้กองทุนประกันสังคมนั้นก็ไม่ได้สูญเปล่า เพราะเราจะได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลตามกฎหมาย วันนี้จะขอเน้นไปที่สิทธิประกันสังคมของลูกจ้าง ม.33 ก่อนนะครับ ซึ่งชาวมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ จะได้รับความคุ้มครองทั้งหมด 7 กรณีด้วยกัน จะมีอะไรบ้าง พี่โอกาสสรุปมาให้แล้ว ไปดูกันเลย!

เงินสมทบประกันสังคม กรณีเจ็บป่วย

  • รักษาพยาบาลฟรีตามโรงพยาบาลที่ได้เลือกไว้
  • หากหมอสั่งให้หยุดพักรักษาตัว สามารถขอเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วันต่อการเจ็บป่วย 1 ครั้ง และเงิ
  • ทดแทนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
  • ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง จะได้เงินทดแทนการขายรายได้ไม่เกิน 365 วัน
  • เบิกค่าทำฟัน เช่น ขูดหินปูน ถอนฟัน อุดฟัน ได้ไม่เกิน 900 บาท/ปี

เงินสมทบประกันสังคม กรณีว่างงาน

  • ถูกเลิกจ้าง : ได้รับเงินชดเชย 50% ของเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 180 วันในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน
  • ลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง : ได้รับเงินชดเชย 30% ของเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 90 วัน
  • หากลูกจ้างถูกไล่ออกหรือเลิกจ้าง เพราะติดคุก ยักยอกเงิน หรือทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง จะก็หมดสิทธิ์การรับ เงินชดเชยคนว่างงาน

เงินสมทบประกันสังคม กรณีคลอดบุตร

  • เบิกค่าคลอดบุตรได้ครั้งละ 15,000 บาท (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง)
  • สำหรับผู้ประกันตนหญิง จะได้รับเงินค่าหยุดงานเพื่อคลอดในอัตรา 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน

สิทธิประกันสังคม สงเคราะห์บุตร คลอดบุตร 2567

เงินสมทบประกันสังคม กรณีสงเคราะห์บุตร

  • ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 800 ต่อลูก 1 คน (ไม่เกิน 3 คนต่อครั้ง)
  • ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อลูกอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์จะหมดสิทธิ์การรับเงิน

เงินสมทบประกันสังคม กรณีชราภาพ

  • จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ : จะสามารถขอเงินสมทบคืนได้ หรือก็คือเงินบำนาญชราภาพนั่นเอง โดยจะได้เงิน 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
  • จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป และอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ : จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย และบวกเพิ่ม 1.5% ทุกๆ 12 เดือนที่จ่ายเกิน 180 เดือน
  • จ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน และอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ : ได้เงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับที่ส่งไป
  • จ่ายเงินสมทบ 12 เดือนขึ้นไปแต่ไม่ถึง 180 เดือน และอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ : จะได้รับเงินที่ลูกจ้างและนายจ้างสมทบและผลประโยชน์ตอบแทนที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดให้

เงินสมทบประกันสังคม กรณีทุพพลภาพ

  • ทุพพลภาพไม่รุนแรง : ได้เงินทดแทนการขาดรายได้ 30% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 180 เดือน
  • ทุพพลภาพรุนแรง : ได้เงินทดแทนการขาดรายได้ 30% ของค่าจ้าง ตลอดชีวิต

เงินสมทบประกันสังคม กรณีเสียชีวิต

  • จ่ายเงินสมทบ 36 เดือนขึ้นไปแต่ไม่ถึง 120 เดือน : เมื่อเสียชีวิตจะได้ค่าทำศพ 50,000 บาท และรับเงินสงเคราะห์ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 4 เดือน
  • จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป : ได้ค่าทำศพ 50,000 บาท และรับเงินสงเคราะห์ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือน

ประกันสังคม ลดหย่อนภาษี 2565 2566 2567 2568

ค่าประกันสังคม ลดหย่อนภาษี ได้ไหม

เพื่อนๆ สามารถนำเงินสมทบประกันสังคมตามที่จ่ายจริงไปลดหย่อนภาษีได้ ถ้าเราจ่ายค่าประกันสังคม 750 บาท เป็นเวลา 12 เดือน ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 9,000 บาท และตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2565 ได้มีการปรับลดอัตราเงินสะสมประกันสังคม ทำให้ลูกจ้างสามารถลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 6,300 บาทครับ

สรุป

ทีนี้เพื่อนๆ ก็พอจะทราบแล้วนะครับว่า ค่าประกันสังคมที่เราจ่ายไปนั้น ก็เป็นเหมือนการทำประกันติดตัวไว้แบบหนึ่ง ส่วนเรื่องที่ว่าประกันสังคมคุ้มค่าจริงไหม คงเป็นประเด็นที่เราต้องพูดคุยกันต่อไป และตอนนี้ก็ใกล้หมดเขตระยะเวลายื่นภาษีปี 2565 แล้ว อย่าลืมไปขอลดหย่อนจากเงินสมทบประกันสังคมด้วยนะครับ

Droplead New

Let us know who you are