กู้ซื้อบ้าน มักจะใช้ระยะเวลานานกว่าจะผ่อนหมด เพราะการกู้ซื้อบ้านเป็นหนี้สินระยะยาวที่กินเวลา 20-30 ปีโดยประมาณ กว่าจะฝ่าฝันขอกู้ซื้อบ้านได้ เลือดตาแทบกระเด็น แต่แล้ววันหนึ่งบ้านที่อบอุ่นก็ไม่เหมือนเดิม เมื่อใครสักคนในบ้านด่วนจากไป ความรู้สึกคงไม่ต่างอะไรกับโลกหยุดหมุน หากคนเสียชีวิตคือผู้กู้ซื้อบ้าน ใครจะต้องผ่อนต่อ ใช่ผู้รับผลประโยชน์หรือเปล่า
‘ผู้กู้ร่วม’ ด่านแรกของความรับผิดชอบ
“ผู้กู้ร่วมซื้อบ้าน” เป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้การกู้ซื้อบ้านผ่านง่ายขึ้นและวงเงินสูงขึ้นด้วย เพราะเป็นการแสดงให้สถาบันการเงินเห็นว่า เรามีความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น
ดังนั้นผู้กู้ซื้อบ้านและผู้กู้ร่วมซื้อบ้านจะอยู่ในสถานะ “มีภาระหนี้ร่วมกัน” ถ้าหากว่าผู้กู้ซื้อบ้าน ผ่อนบ้านไม่ไหว คนที่รับผิดชอบในลำดับถัดไปจะเป็นผู้กู้ร่วมซื้อบ้าน ในกรณีที่ผู้กู้ซื้อบ้านเสียชีวิตลง ผู้ที่ต้องรับผิดชอบชำระหนี้สินบ้านต่อจะตกเป็นของ ผู้กู้ร่วมซื้อบ้าน ในทันที
กู้ซื้อบ้านร่วมกับใครได้บ้าง?
ผู้กู้ร่วม จะต้องเป็นบุคคลที่มีสายเลือดเดียวกัน หรือมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับผู้กู้ซื้อบ้าน โดยจะมีกรรมสิทธ์ในบ้านหลังนั้น รวมถึงต้องรับผิดชอบหนี้บ้านหลังจากที่ผู้กู้ซื้อบ้านได้เสียชีวิตลงด้วย ซึ่งผู้กู้ร่วมมักจะได้แก่
- สามีหรือภรรยาที่จดทะเบียนกัน หรือ ยังไม่จดทะเบียนกัน
- พี่น้องท้องเดียวกัน สายเลือดเดียวกัน นามสกุลเหมือนกัน
- พี่น้องท้องเดียวกัน คนละนามสกุล (ต้องยื่นสูติบัตรว่ามีพ่อหรือแม่คนเดียวกัน)
ในกรณีที่กู้ซื้อบ้านคนเดียว ไม่มีผู้กู้ร่วมซื้อบ้าน หนี้บ้านจะตกเป็นของทายาท หรือผู้รับผลประโยชน์ของผู้กู้ซื้อบ้าน
หนี้บ้านคือ ‘มรดกตกทอด’ ที่ผู้รับผลประโยชน์ต้องสานต่อ
บ้านถือเป็นทรัพย์สินตามกฎหมายของผู้กู้ซื้อ และ “หนี้บ้าน” ก็เป็นสิ่งที่ผู้กู้ซื้อต้องรับผิดชอบตามระยะเวลาการผ่อนบ้าน โดยต้องผ่อนจ่ายทุกเดือนจนถึงงวดสุดท้าย
แต่เมื่อผู้กู้ซื้อบ้านเสียชีวิตลง และไม่มีใครเป็นผู้กู้ร่วมซื้อบ้าน คนที่ต้องรับช่วงต่อจะเป็นใครไม่ได้เลยนอกจาก “ผู้รับผลประโยชน์”
ไม่ใช่แค่ทรัพย์สินอย่างบ้านจะตกเป็นของผู้รับผลประโยชน์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความรับผิดชอบของผู้กู้ซื้อบ้านคนก่อนด้วย นั่นหมายถึงว่า ทายาทที่ได้รับมรดกตกทอด หรือผู้รับผลประโยชน์ จะต้องผ่อนบ้านต่อจนกว่าจะครบสัญญา
ทางเลือกของผู้รับผลประโยชน์ ในการผ่อนบ้านต่อ
แม้ว่าภาระหนี้จะตกเป็นของผู้รับผลประโยชน์ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่ผู้รับผลประโยชน์จะมีทางเลือกในการผ่อนบ้านต่อดังนี้
1. ผ่อนบ้านต่อไม่ไหว ปล่อยยึด
ในกรณีที่ผู้รับผลประโยชน์ผ่อนบ้านไม่ไหว หรือปฏิเสธที่จะรับทรัพย์สินบ้านต่อผู้กู้ซื้อบ้านที่เสียชีวิตไปแล้ว ทางสถาบันการเงินจะยึดทรัพย์สินบ้าน และทำการปล่อยบ้านขายทอดตลาด
โดยจะนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาใช้หนี้ที่คงค้างอยู่กับสถาบันการเงิน ซึ่งส่วนมากยอดเงินที่ปล่อยบ้านขายทอดตลาดจะได้จำนวนที่น้อยกว่าหนี้ผ่อนบ้าน ทำให้ผู้รับผลประโยชน์ต้องชำระหนี้ต่อจนกว่าจะหมด แต่จำนวนเงินจะน้อยลงจากเดิม
2. ผ่อนบ้านต่อจนหมดสัญญา
บ้านเป็นมรดกตกทอด ผู้รับผลประโยชน์จึงเลือกเก็บทรัพย์สินเอาไว้ แต่สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้จะทำการประเมินหนี้อีกครั้งว่า หนี้ผ่อนบ้านเหลือเท่าไหร่บวกกับความสามารถในการผ่อนบ้านของผู้รับผลประโยชน์ เรียกว่าเป็นการกู้ซื้อบ้านอีกครั้ง ถ้ากู้ผ่าน ผู้รับผลประโยชน์ก็กู้ซื้อบ้านและผ่อนต่อให้หมด
แต่ในกรณีที่สถาบันการเงินประเมินว่าผู้กู้ไม่สามารถผ่อนบ้านต่อได้ ก็จะเข้าสู่กระบวนการขายบ้านทอดตลาด และนำเงินที่ได้จากการขายบ้านมาใช้หนี้ผ่อนบ้านให้กับสถาบันการเงิน และใช้หนี้บ้านที่เหลือจากยอดทั้งหมดต่อไป
ประกันคุ้มครองหลักทรัพย์ (MRTA) ฮีโร่ตัวจริงของคนรักบ้าน !
ประกันคุ้มครองหลักทรัพย์ หรือ ประกัน MRTA จะเป็นหลักประกันว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นกับผู้กู้ซื้อบ้าน ภาระหนี้สินบ้านจะไม่ตกเป็นของผู้กู้ร่วมซื้อบ้าน หรือผู้รับผลประโยชน์ในภายหลัง
ซึ่งประกัน MRTA จะเป็นประกันชีวิตที่คุ้มครองวงเงินสินเชื่อ ซึ่งหากผู้กู้เสียชีวิตประกันก็จะจ่ายหนี้ให้ตามความคุ้มครอง โดยจะมีทั้งคุ้มครองเต็มวงเงิน และคุ้มครองไม่เต็มวงเงิน
เช่น ถ้ากู้ซื้อบ้าน 3 ล้าน ผ่อน 30 ปี แล้วทำประกัน MRTA แบบเต็มวงเงิน ประกันจะคุ้มครอง 3 ล้านบาท เป็นเวลา 30 ปี ซึ่งเมื่อผู้กู้เสียชีวิตระหว่างผ่อน ผู้รับประโยชน์ก็จะไม่ต้องรับภาระหนี้เลย
และเราสามารถเลือกได้ว่าจะ “ทำหรือไม่ทำประกัน” เพราะสถาบันการเงินไม่มีสิทธิ์บังคับให้กับผู้กู้ซื้อบ้านซื้อประกัน MRTA เด็ดขาด หากเจอเหตุการณ์แบบนี้สามารถส่งเรื่องร้องเรียนไปที่ เว็บไซต์ คปภ. ได้เลยครับ
ด้วยความที่เบี้ยประกันค่อนข้างสูง หรืออาจมีระยะเวลาการกู้ที่สั้น เลยทำให้หลายคนไม่ค่อยนิยมทำประกัน MRTA เวลายื่นรีไฟแนนซ์บ้าน หรือยื่นกู้ซื้อบ้าน
แต่จะดีกว่ามากหากผู้กู้ซื้อบ้านทำประกัน MRTA ควบคู่กับการผ่อนบ้านไปด้วย เพราะจะทำให้ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้รับผลประโยชน์ในภายหลัง รวมถึงทำให้ดอกเบี้ยผ่อนบ้านถูกลงเยอะอีกด้วย !
สรุป
หากกู้ซื้อบ้านแล้วเสียชีวิต นอกจากบ้านจะเป็นมรดกตกทอดแล้ว ยังมีความรับผิดชอบติดสอยห้อยตามมาด้วย ในกรณีที่ผู้กู้ซื้อบ้านไม่มีผู้กู้ร่วม หนี้สินทั้งหมดจะตกเป็นของผู้รับผลประโยชน์หรือทายาทในทันที โดยผู้รับผลประโยชน์สามารถเลือกได้ว่าจะ “ผ่อนบ้านต่อไปให้หมด” หรือ “ผ่อนบ้านไม่ไหว ปล่อยยึดไปเลย” ซึ่งการทำประกันคุ้มครองทรัพย์สินไว้ ก็อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงได้